เสนอหนุน “ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ฉบับ คปก.” หลังผ่านกระบวนการ 2 ปี เน้นรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน ช่วยขยายคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยทุกกองทุน ลดการการฟ้องร้อง แก้ปัญหาขัดแย้งหมอ-คนไข้ ยอมรับยังมีแพทย์ที่คัดค้าน ยัน คปก.ทำเต็มที่แล้ว แต่ให้ถูกใจคนทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ พร้อมเตรียมเสนอ รมว.สธ.ใช้ร่างกฎหมาย คปก.เป็นร่างกฎหมายรัฐบาล เสนอ ครม.พิจารณาส่ง สนช.
22 ธ.ค.57 การผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข” แม้ว่าจะมีความพยายามต่อเนื่องเพื่อให้กฎหมายออกมาบังคับใช้ โดยเฉพาะจากฟากฝั่งประชาชน เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ที่เห็นว่าไม่เพียงแต่เป็นการคุ้มครองผู้ป่วยจากการรักษาและบริการสาธารณสุข แต่ยังช่วยลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ขณะเดียวกันได้มีเสียงคัดค้าน โดยเฉพาะจากแพทย์วิชาชีพ เนื่องจากมองว่าเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม บังคับให้แพทย์รับผิดทั้งที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนในการรักษา และจากตัวผู้ป่วยเอง เช่น การแพ้ยา เป็นต้น ซ้ำยังคงเปิดช่องให้สามารถฟ้องแพ่งและอาญาแพทย์ได้
ด้วยเหตุนี้ทำให้การออกกฎหมายฉบับนี้กินเวลาร่วม 10 ปี ทั้งยังมีร่างกฎหมายที่นำเสนอหลายฉบับ ทั้งจากภาคประชาชน องค์กรวิชาชีพ และ “ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่นำเสนอโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)” ที่อยู่ระหว่างการรอนำเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาเพื่อเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป
นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) กล่าวว่า จากสถานการณ์สังคมไทยที่มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก หลายเรื่องจึงจำเป็นต้องมีระบบเพื่อดูแล โดยเฉพาะประเด็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง และ “ความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข” เป็นปัญหาหนึ่งที่ต้องมีระบบจัดการ ไม่แต่คุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยที่เป็นประชาชนในการรับบริการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ให้บริการทั้งแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ดังนั้น คปก.จึงได้ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ฉบับ คปก. ขึ้น และเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ป่วย ประชาชน แพทยสภา สภาวิชาชีพ รวมไปถึงคณบดีแพทยศาสตร์ ซึ่งใช้ระยะดำเนินการนานถึง 2 ปี
นางสุนี กล่าวว่า เหตุที่ต้องมีการออกฎหมายฉบับนี้ ทั้งที่มี ม.41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิอยู่แล้วนั้น เพื่อยกระดับการช่วยเหลือ เนื่องจาก ม.41 เป็นการคุ้มครองช่วยเหลือเฉพาะผู้ใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 48 ล้านคนเท่านั้น แต่ยังมีประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการดูแล ทั้งผู้มีสิทธิในระบบประกันสังคมประมาณ 10 คน ระบบสวัสดิการข้าราชการราว 5 ล้านคน และผู้ป่วยที่จ่ายค่ารักษาเอง ดังนั้นจึงต้องมีระบบที่ครอบคลุมดูแลประชาชนทั้งหมด เยียวยาได้ทันทีเพื่อลดการฟ้องร้องที่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยและแพทย์ ทั้งยังกินเวลายาวนานกว่า 10 ปี โดยใช้หลักการเดียวกับ ม.41 แต่อาจยกระดับการช่วยเหลือเพิ่มขึ้น
“กฎหมายนี้จะช่วยคนที่เดือดร้อนจำนวนมากกรณีที่เกิดปัญหาการรักษาขึ้น ไม่ต้องใช้กระบวนการศาล และที่สำคัญช่วยให้แพทย์ไม่ต้องคอยระมัดระวังการฟ้องร้องในระหว่างให้การรักษา สามารถดูแลผู้ป่วยตามวิชาชีพได้อย่างเต็มที่ และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องมนุษยธรรมปกติ แต่เป็นเรื่องส่งผลกระทบต่อระบบบริการรักษาพยาบาลและสาธารณสุข จึงต้องมีกลไกที่สร้างความมั่นคงให้กับระบบสาธารณสุข” รองประธาน คปก.กล่าว
นางสุนี กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอขยาย ม.41 แทนการออกกฎหมายใหม่ จากที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะทำงานพิจารณาปรากฎว่าไม่สามารถทำได้ เพราะหากจะนำงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อเยียวยาผู้ป่วยในทุกระบบจะต้องแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ การออกกฎหมายใหม่จะทำง่ายกว่า อีกทั้งยังขยายการเพิ่มเติมได้ เช่น กรณีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ในทางกฎหมายแม้ว่าจะถือว่าเป็นการหลุดจากคดีแพ่ง แต่ในกรณีที่ผู้ที่ไม่พอใจและต้องการจะฟ้องต่อศาล ในทางกฎหมายคงไปบังคับห้ามฟ้องไม่ได้ โดยในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ฉบับ คปก. ได้เขียนเพิ่มเติมไว้ใน ม.28 ว่า หากทำสัญญาประนีประนอมยอมความประกอบกับการดูประวัติคุณหมอที่ให้การรักษา ศาลอาจใช้ดุลพินิจนี้เพื่อลดโทษได้ จะเห็นได้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ได้เปิดช่องเพื่อช่วยผู้ให้บริการไว้มาก แม้แต่นักกฎหมายเมื่อดูเนื้อหาแล้วยังบอกว่าเป็นกฎหมายที่ล้ำหน้ามาก เป็นการเอื้ออำนวยให้ความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วยลดลง
ส่วนที่แพทยสภาแสดงจุดยืนคัดค้านนั้น นางสุนี กล่าวว่า เราได้ทำเต็มที่แล้ว การออกกฎหมาย คปก.ได้ทำอย่างตรงไปตรงมา เชิญทุกกลุ่มมารับฟังความเห็น แต่ยอมรับว่าบางคนที่ไม่สบายใจก็ยังไม่สบายใจ แม้ว่าได้จะชี้แจงเต็มที่แล้ว ดังนั้นเราคงไม่สามารถทำให้ทุกคนเห็นด้วยได้ และเมื่อเปรียบเทียบประโยชน์ที่คนหลายสิบล้านคนจะได้รับการคุ้มครองการรักษา หากเกิดความผิดพลาดไม่ต้องหาคนผิด ไม่ต้องฟ้องศาลและได้รับการเยียวยารวดเร็วเป็นธรรม คงต้องเดินหน้าผลักดันกฎหมาย นอกจากนี้เมื่อดูร่างกฎหมาย คปก.จะพบว่ามีความแตกต่างจากร่างของภาคประชาชนเพราะมีความยืดหยุ่นมากกว่า นอกจาก ม.28 ที่ระบุข้างต้นแล้ว ยังไม่บังคับให้ รพ.เอกชนที่ไม่ได้ดูแลผู้ป่วย 3 กองทุนเข้าร่วม โดยให้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ
“มีคนตั้งคำถามว่าจะค้านทำไม เมื่อเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรสาธารณสุขเอง นอกจากไม่ต้องหาคนผิดแล้วยังมีกองทุนช่วยเยียวยา ซึ่งจากที่ คปก.รับฟังความเห็นได้นำมาปรับแก้ แต่บางเรื่องแก้ไขให้ไม่ได้ เช่น ให้ยกเว้นฟ้องคดีอาญาซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิ์ ประชาชนต้องมีสิทธิฟ้องร้อง หากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญกติกาประเทศ” นางสุนี กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามหลังจากที่ร่างกฎหมายได้ผ่านกระบวนการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้แพทย์หลายคนยอมรับและช่วยสนับสนุนออกฎหมาย ดังนั้นจึงมองว่าแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ได้ค้าน แต่ผู้ที่ค้านอาจจะยังไม่เข้าใจพอ
ต่อข้อซักถามว่ากังวลหรือไม่ เพราะมีการนำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ไปใช้หาเสียงเลือกตั้งแพทยสภา นางสุนี กล่าวว่า ถือเป็นวิจารณญาณของแพทย์ แต่คิดว่าบุคลากรสาธารณสุขมีหลายสาขาวิชาชีพและส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้าน อย่างไรก็ตาม คปก.ได้จัดทำแผ่นพับเพื่อประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจต่อเนื้อหาของกฎหมาย เป็นการสื่อสารโดยตรงชี้แจงในสาระของกฎหมาย
ส่วนที่เกรงว่าจะมีการฉวยโอกาสเพื่อรับประโยชน์ชดเชยจากกฎหมายนี้ นางสุนี กล่าวว่า ม.41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เคยถูกคัดค้านมาแล้วเมื่อ 10 ปีที่แล้วว่าจะมีคนไข้จำนวนมากร้องเรียนเพื่อรับการเยียวยา แต่สุดท้ายจากที่ สปสช.กันเงินไว้ร้อยละ 1 เพื่อใช้ช่วยเหลือตาม ม. 41 ปรากฎว่าใช้ไปเพียงแค่ร้อยละ 0.05 เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าไม่ได้เพิ่มมากมายอย่างที่คาดกันไว้ อีกทั้งในการรับการช่วยเหลือมีคณะกรรมการพิจารณา และเชื่อว่าคงไม่มีคนไข้อยากได้เงินช่วยเหลือในมาตรานี้
รองประธาน คปก. กล่าวต่อว่า ส่วนช่องทางการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ทาง คปก.จะเข้าพบ รมว.สาธารณสุข เพื่อขอให้ใช้ร่างกฎหมายของ คปก.เป็นร่างของรัฐบาล โดยอาจปรับเพิ่มเติม รวมถึงการเปิดรับฟังความเห็น และส่งให้ ครม.พิจารณาเพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไป ทั้งนี้มองว่ากระทรวงสาธารณสุขเองควรที่จะสนับสนุน เนื่องจากหากเกิดปัญหาขึ้นกับ รพ.ในสังกัดจะได้มีกลไกรองรับ หรือขอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 25 คน เสนอเป็นกฎหมายเข้าสภาเพื่อพิจารณา
ส่วนอีกช่องทางหนึ่ง คือการออกเป็นกฎหมายลูก เนื่องจากทางคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เสนอให้การคุ้มครองความเสียหายจากการบริการสาธารณสุขเป็นสิทธิที่ประชาชนต้องได้รับตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องมีกฎหมายลูกรองรับ ซึ่งดำเนินการในนาม สปช. ส่วนการยืนยันในฐานะที่เป็นร่างกฎหมายที่มาจากการเข้าชื่อของประชาชนนั้น เนื่องจากยังมีปัญหากระบวนการ ทำให้ยังไม่สามารถใช้ช่องทางนี้ได้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
หนังสือปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้เสียหายจากรับบริการสาธารณสุขฉบับ คปก.
- 5 views