คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เตรียมเสนอร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี 5 ฉบับ เข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ในวันที่ 24 ธันวาคม 2557 ได้แก่ ห้ามขายหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในท่าเรือโดยสารสาธารณะ ในสถานีขนส่งสาธารณะ ในบริเวณสถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ รอบสถานศึกษา และเพิ่มวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันออกพรรษา โดยจะทบทวน ศึกษาเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น คือห้ามขายรอบสถานศึกษา และกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันปีใหม่ สงกรานต์
วันนี้(19 ธันวาคม 2557) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 2/2557 ว่า วันนี้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้พิจารณาและมีมติให้เสนอร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ฯ อีกจำนวน 5 ฉบับ ต่อคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติในวันที่ 24 ธันวาคม 2557 ได้แก่ 1.กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในท่าเรือโดยสารสาธารณะ 2.กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานีขนส่ง 3. กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณสถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ 4.กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา และ5.กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า มีร่าง 2 ฉบับ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้นำกลับไปทบทวนและนำกลับเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุมคณะกรรมการฯครั้งต่อไป ได้แก่ เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษาอุดมศึกษา เนื่องจากยังมีรายละเอียดปลีกย่อยพิจารณาต่อ ซึ่งต้องมีข้อห้ามและข้อยกเว้นบางกรณีเพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมที่สุด และ เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้พิจารณาวันห้ามขายสุรา เพิ่มอีกวัน คือวันออกพรรษา เนื่องจากพบว่าประชาชนมีการซื้อดื่มกันมากในวันนี้ ส่วนการห้ามขายในวันปีใหม่ และวันสงกรานต์ ยังไม่เป็นมติ เนื่องจากยังมีความเห็นแตกต่างพอสมควร และรวบรวมความเห็นให้ชัดเจน รวมทั้งประเด็นที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าว คณะกรรมการฯก็รับฟังด้วย โดยต้องฟังความเห็นที่หลากหลายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมทั้งผลกระทบการท่องเที่ยวด้วย
“ในการออกร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีในการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะกรณีที่กระทบต่อคนหมู่มาก จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ในหลายๆด้าน ทุกเรื่อง สอบถามความเห็น หลักวิชาการ สามารถปฏิบัติได้จริง มาตรการกฎหมาย การทำงานร่วมกัน การมีกฎหมายไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่มีประสิทธิภาพ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่เกิดประโยชน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องเข้ามาช่วย ขณะเดียวกันจะต้องปลูกฝังให้ความรู้ประชาชนตั้งแต่เด็ก ถึงอันตรายของพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มสุราขับรถ ไม่ใส่หมวกนิรภัย ต้องให้ปลูกฝังในจิตสำนึกเรื่องอุบัติเหตุ โดยสภาพถนนกรมทางหลวงก็ต้องดูแล ผู้ใช้รถต้องตรวจสภาพรถและปฏิบัติตามกฎจราจร ซึ่งหลายๆยุทธศาสตร์ต้องร่วมกัน” ศ.นพ.รัชตะ กล่าว
โดยหลังการประชุม เครือข่ายเยาวชนและผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ยื่นหนังสือให้กำลังใจและสนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุขทำงานควบคุมปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- 4 views