รัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน 10 ประเทศบวก 3 คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ประกาศใช้เกราะป้องกันโรคอีโบลา 3 ชั้น ทั้งระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก โดยออกแถลงการณ์ 4 ความร่วมมือภูมิภาค ได้แก่ การป้องกันและควบคุมโรคเชิงรุก ความเข้มแข็งกลไกการตอบโต้ร่วมกันของแต่ละประเทศ การเปิดสายด่วนสื่อสารเตือนภัยระหว่างรัฐมนตรีสาธารณสุข และการศึกษาวิจัย ให้ทุกประเทศเข้มการเฝ้าระวังโรค อาการผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดหรือแวะเปลี่ยนเครื่องบินที่สนามบิน ด่านเข้าเมือง ให้ความรู้ประชาชนเพิ่มความตระหนักโรค และหนุนนานาชาติเพิ่มศักยภาพให้พื้นที่ระบาดทุกรูปแบบ ธนาคารโลกระบุหากยังคุมโรคในอาฟริกาตะวันตกไม่ได้ เชื้อแพร่สู่ประเทศเพื่อนบ้าน คาดสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้สูงกว่า 9 แสนล้านบาทในช่วงปลายปีหน้า
วันนี้ (15 ธันวาคม 2557) ที่โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน กรุงเทพมหานคร ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์เหงียน ทันห์ ล็อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขประเทศเวียดนาม นายเควอน ด๊ก โชล ผู้ช่วยรัฐมนตรีสุขภาพและสวัสดิการ ประเทศเกาหลีใต้ นายลี ลวง มินห์ เลขาธิการอาเซียน นายแพทย์ชิน ยง-ซู ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก และดร.พูนัม เกตพาล ซิงห์ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถลงข่าวภายหลังการประชุมสมัยพิเศษรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน 10 ประเทศ บวก 3 ประเทศคือจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เพื่อการเตรียมความพร้อมและแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไทยและกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพในวันที่ 14-15 ธันวาคม 2557 ที่กรุงเทพฯ ว่า การประชุมครั้งนี้ ประสบผลสำเร็จอย่างสูง ที่ประชุมได้แสดงความห่วงใย กังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคอีโบลาในทวีปแอฟริกาตะวันตก ที่กำลังส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ในประเทศกินี ไลบีเรีย เซียร์ร่าลีโอน รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ซึ่งถือเป็นการระบาดครั้งที่รุนแรงที่สุด และเชื้อนี้มีโอกาสแพร่ข้ามทวีปได้ในเวลาอันรวดเร็ว จากการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศของประชาชน
จากการประเมินผลกระทบจากอีโบลา ธนาคารโลกได้รายงานว่า หากเชื้อไวรัสยังคงระบาดหนักในพื้นที่ 3 ประเทศและเชื้อแพร่ออกไปสู่ประเทศข้างเคียง จะมีผลกระทบเศรษฐกิจของภูมิภาคแอฟริกาในช่วงปลายปี 2558 อาจพุ่งสูงถึง 32,600 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 978,000 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ทั่วโลกต้องร่วมมือกันยุติการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็ว เพื่อลดความสูญเสียต่างๆ ปกป้องความปลอดภัยให้ประชาชน
ที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสามครั้งนี้ ได้เน้นการให้ความสำคัญของระบบการสาธารณสุขมูลฐาน ระบบการการดูแลสุขภาพ ความครอบคลุมของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการพัฒนากำลังคนเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในภาวะเร่งด่วน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักที่จะทำให้ภูมิภาคนี้ มีศักยภาพในการแก้ไขภัยคุกคามจากโรคติดต่ออุบัติใหม่ รวมทั้งอีโบลา โดยได้แถลงการณ์วางระบบความร่วมมือการป้องกันโรคอีโบลา 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เพื่อตัดโอกาสเชื้อแพร่ระบาดข้ามแดน
ความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียนบวก 3 ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ 1.เพิ่มความร่วมมือด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อข้ามพรมแดนต่างๆ โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล การฝึกอบรมบุคลากร และแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ แนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรในการสอบสวนโรคและตอบสนองการระบาดร่วมกัน รวมทั้งการสนับสนุน การตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว เพื่อผลในการตรวจรักษาและการควบคุมเชื้อให้อยู่ในวงจำกัด ไม่มีการแพร่กระจาย และการส่งต่อผู้ป่วยข้ามแดนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการมีกลไกการติดตามผู้สัมผัสโรคได้ครบถ้วน ตามมาตรฐานสากล
2.สร้างกลไกการเตรียมความพร้อมตอบโต้โรคอีโบลาและโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่จะเกิดในอนาคต โดยมีการสนับสนุนวิชาการจากองค์การอนามัยโลกภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก เร่งรัดให้ผ่านการรับรองตามเกณฑ์ของกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 ขององค์การอนามัยโลก 3.จัดช่องทางสื่อสารการเตือนภัยล่วงหน้า มีสายด่วนตรงระหว่างรัฐมนตรีสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสาธารณสุข เพิ่มความรวดเร็วในการรับมือสถานการณ์ในประเทศ และระดับนานาชาติ และ 4.ความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาและเพิ่มความพร้อมเครื่องมือในการป้องกันโรค การตรวจจับสัญญาณการระบาด การรักษาพยาบาล และการควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่เช่นการพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคอีโบลา ซึ่งขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนายาต้านไวรัสอีโบลา ชื่อว่าฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งผ่านขั้นตอนการทดลองในสัตว์ ได้ผลดี อยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพในพื้นที่ระบาด
ในส่วนมาตรการระดับโลก เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคอีโบลา มี 3 ประเด็น ได้แก่ 1. การให้การสนับสนุนร่วมมือกับองค์กรนานาชาติที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการเฝ้าระวัง การตอบโต้การระบาด 2.การระดมความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทั้งด้านการเงิน เครื่องมือแพทย์ บุคลากร บริการการตรวจทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบบโลจิสติกส์ สถานบริการทางการแพทย์ เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ รวมถึงการช่วยเหลือดูแลรักษา เคลื่อนย้ายบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อจากการลงไปให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ และ3.การให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากอีโบลา เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาความเข้มแข็งระบบสาธารณสุข สามารถรับมือการแพร่ระบาดโรคได้ในอนาคต
สำหรับมาตรการดำเนินงานในระดับประเทศ มี 5 ประเด็นที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ ได้แก่ 1.การขยายแผนการเตรียมความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ในระดับชาติที่มีอยู่แล้วให้ครอบคลุมโรคระบาดใหม่ที่อาจเกิดในอนาคต 2.ให้ประเมินศักยภาพความพร้อมในการรับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่อย่างเหมาะสมตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก 3.ดำเนินการเฝ้าระวังสุขภาพผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดโรคอีโบลาอย่างต่อเนื่อง 4.ฝึกซ้อมแผนความพร้อมรับมือโรคอีโบลาหากพบผู้ติดเชื้อ โดยจำลองสถานการณ์ความรุนแรงเสมือนจริง เพิ่มความมั่นใจทั้งระบบ และ5.ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ข้อมูลโรคอีโบลาและโรคติดต่ออุบัติใหม่แก่ประชาชนอย่างเพียงพอ เพื่อลดความตื่นตระหนก และเพิ่มความตระหนักในการป้องกันโรค เพิ่มประสิทธิภาพระบบการป้องกันควบคุมโรค
- 19 views