มติชน : สธ.เดินหน้าทำหนังสือร้อง 'พล.อ.ประยุทธ์' ตรวจสอบการเงิน สปสช.แล้ว หมออุ้มผางแจง จ.ม. ส่งตรง'หมอรัชตะ' ชี้ไม่ได้ถูกบังคับโจมตีการจัดสรรเงิน สปสช. แต่เป็นปัญหาขาดทุนจริง
จากปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ภายหลังปลัด สธ.เปิดเผยถึงการจัดสรรเงินของ สปสช.ไปยัง รพ.ต่างๆ มีความผิดปกติ ขณะเดียวกันมีการเปิดเผยจดหมายของ นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก และแพทย์ชนบทดีเด่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช โดยออกมาระบุว่า สปสช.บริหารงานขาดหลักมนุษยธรรม จนเป็นเหตุให้ รพ.ขาดทุน โดยทางกรรมการมูลนิธิ รพ.อุ้มผาง กลับเปิดเผยที่มาของจดหมายดังกล่าวว่า นพ.วรวิทย์ แพทย์ชนบทดีเด่นถูกบังคับให้โจมตี สปสช. และเสนอให้ตั้งกองทุนสุขภาพชายแดนแก้ปัญหาดังกล่าว
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.วรวิทย์เขียนจดหมายลงวันที่ 13 ธันวาคม 2557 ถึง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ถึงปัญหาดังกล่าวว่า ตามที่มีการเผยแพร่จดหมายถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ตาก ที่เป็นผู้เขียนขึ้นเอง เพื่อขอให้ นพ.สสจ.ช่วยนำข้อเสนอตามความรู้สึกของตน และเป็นข้อเท็จจริงที่ทำงานในพื้นที่มานานกว่า 23 ปี เพื่อนำเรียนผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) การเขียนจดหมายดังกล่าว ยืนยันว่าไม่ได้รับแรงกดดันจากใครทั้งสิ้น เพราะคนในอาชีพแพทย์ ไม่ชอบให้ใครบังคับจิตใจอยู่แล้ว และก็ไม่เลือกว่าจะอยู่ข้างใดข้างหนึ่งที่ขัดแย้งทางความคิดในขณะนี้ เพราะแพทย์ควรอยู่ข้างเดียวกันหมดไม่ใช่หรือ
"ขอกราบเรียนว่าข้อความในจดหมายที่เผยแพร่นั้นไม่ได้กล่าวหาเกินเลย หลายๆ ท่านไม่ได้ประสบด้วยตนเองอย่างผมจึงไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ และมีอคติในการรับฟังความเห็นที่แตกต่าง ผมและน้องๆ ทุกคนที่ รพ.ทำงานด้วยการยึดมนุษยธรรมเป็นหลัก ท่านอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านทราบว่า รพ.ประสบปัญหาก็พยายามช่วย ทั้งนี้ เมื่อช่วงเริ่มโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใหม่ๆ หลายพื้นที่มีปัญหาการได้รับงบไม่เพียงพอ สมัยนั้น นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช. คนแรก ลงพื้นที่ มาเยี่ยมผม เพราะเข้าใจถึงปัญหา และบอกกับผมว่าจะขอใช้เวลา 3 ปี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแบบมนุษยธรรมให้ได้ ผมจึงขอยกย่องท่านเป็นปูชนียบุคคลด้านสาธารณสุขของเพื่อนมนุษย์โลก แต่หลังจากท่านเสียชีวิต และมีคณะ ผู้บริหาร สปสช.ชุดใหม่ ทุกอย่างไม่เป็นเช่นนั้น" นพ.วรวิทย์ระบุ
จดหมาย นพ.วรวิทย์ระบุว่า คณะผู้บริหารชุดใหม่ไม่เคยสำรวจปัญหาในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน อาจเพราะไม่ได้มีความรู้สึกถึงความเป็นธรรมแบบมนุษยธรรมเหมือน นพ.สงวน แต่ยึดความเป็นธรรมแบบคณิตศาสตร์ ส่งผลให้ไม่เข้าใจปัญหาของพื้นที่ชายแดน เพราะมีบุคคลที่เป็นกะเหรี่ยง รวมทั้งบุคคลรอพิสูจน์สถานะ แต่พวกเขาเป็นคนไทย อยู่ในประเทศไทยมานาน เหมือนบรรพบุรุษคนจีนอพยพมาหลายสิบปีแต่ไม่ได้บัตรประชาชน เรื่องนี้ได้เคยเสนอผู้บริหาร สปสช.ให้ช่วยส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรื่องบุคคลใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ว่า หมายถึงคนที่ต้องมีเลขประจำตัว 13 หลักเท่านั้น หรือหมายถึงทุกคนที่เป็นมนุษย์ในแผ่นดินนี้ จึงขอให้ รมว.สธ.ช่วยพิจารณาว่าแพทย์ควรปฏิบัติหน้าที่โดยใช้หลักมนุษยธรรมหรือหลักกฎเกณฑ์ แต่ไม่เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม เพื่อที่ตนจะได้นำไปใช้สอนนักศึกษาแพทย์และบอกกล่าวบุคคลอื่น ต่อไป
แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า ภายหลัง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ออกมาเปิดเผยการจัดสรรงบของ สปสช.ว่ามีการ กระจายไปยังหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ (รพ.) อาจขัดหลัก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หรือไม่ จนเป็นเหตุให้เลขาธิการ สปสช.ออกมาปฏิเสธและระบุว่าปลัด สธ.ใส่ร้ายนั้น ปรากฏว่าสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้สอบถามมายัง สป.สธ.เกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำข้อมูลและตอบกลับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เนื้อหาสำคัญที่รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณโครงการบัตรทองถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เป็นไปตามข่าวที่ปลัด สธ.เคยเปิดเผย แต่มีรายละเอียดเพิ่มขึ้น อาทิ ในปี 2556 สปสช.โอนเงินให้หน่วยงานที่ไม่ได้จัดบริการ ทั้งมูลนิธิ ชมรม สมัชชาสุขภาพ ฯลฯ รวม 118 หน่วยงาน เป็นเงิน 190.02 ล้านบาท ขณะที่ปี 2557 ก็มีการโอนให้หน่วยงานลักษณะนี้อีก 177 หน่วยงาน เป็นเงิน 254.35 ล้านบาท แม้ สปสช.จะชี้แจงเรื่องนี้ แต่ทาง สป.สธ.ระบุว่า จากการบริหารจัดการและการจัดสรรงบประมาณของ สปสช. ส่งผลให้ รพ.ต่างๆ ในทุกระดับของ สธ.ประสบปัญหากว่าครึ่งหนึ่ง และพบว่ามี รพ.ที่วิกฤตทางการเงินสูงสุดในระดับ 7 ถึง 105 แห่ง ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่า สป.สธ.เตรียมเสนอนายกฯขอให้มีการตรวจสอบ สปสช. และขอให้ปรับโครงสร้างขององค์กรและคณะกรรมการบริหารที่มีอิสระสูงให้มีระบบถ่วงดุล ขณะที่ สปสช.เตรียมเสนอให้ รมว.สธ.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบปัญหา รพ.ขาดทุน แต่ดูเหมือนจะไม่ได้รับการตอบรับจากทางฝั่ง สป.สธ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 15 ธันวาคม 2557
- 3 views