สธ.เตรียมขยายระบบการดูแลผู้ป่วยที่รักษาไม่หาย เช่น โรคมะเร็ง โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง และอยู่ระยะท้ายของชีวิต ให้อยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าที่จะสามารถเป็นไปได้ โดยสนับสนุนให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ กว่า 10,000 แห่ง จัดตั้งหน่วยบริการคุณภาพชีวิต ทั้งในโรงพยาบาลและที่บ้าน ช่วยบรรเทาอาการทุกข์ทรมาน ตอบสนองความต้องการทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม และจิตวิญญาณ ในช่วงระยะเวลาสุดท้ายของชีวิต เพื่อมอบเป็นของขวัญแก่ประชาชนไทย ในปีใหม่ 2558
11 ธ.ค.57 ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กทม. นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้อำนวยการโรงพยาบาล บุคลาการทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง/ระยะสุดท้าย จากโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลในสังกัดกรมวิชาการ จำนวน 400 คน เพื่อมอบนโยบายการพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้แล้วด้วยวิธีการใดๆ ในช่วงระยะเวลาสุดท้ายของชีวิต หรือที่เรียกว่าการดูแลแบบประคับประคอง ช่วยให้ผู้ป่วยอยู่อย่างมีมีคุณภาพชีวิตที่ดี สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น และบริบทสังคมไทย
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จากสถิติของประเทศไทย แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 300,000 คน แนวโน้มการป่วยและเสียชีวิตส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น โรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตอันดับ 1 คือ มะเร็ง ปีละประมาณ 60,000 คน พบทุกหมู่บ้าน ซึ่งโรคเรื้อรังดังกล่าวมีระยะการก่อโรคเป็นเวลานาน และในระยะสุดท้ายซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้แล้วด้วยวิธีการใดๆ แล้ว อาจก่อให้เกิดความทุกข์ทรมาน กระทรวงสาธารณสุขมีนโบบายพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยประเภทนี้ โดยสนับสนุนให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง จัดตั้งหน่วยบริการคุณภาพชีวิตที่โรงพยาบาลและมีทีมไปดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ให้ผู้ป่วยอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี เท่าที่จะสามารถเป็นไปได้ มีระบบการให้คำปรึกษาและประสานงานส่งต่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยจะได้รับการดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จิตวิญญาณตามหลักศาสนา ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์พัฒนาด้านวิชาการ เทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ เริ่มดำเนินการในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดกรมการแพทย์ 16 แห่งแล้ว พบว่าได้ผลดีมาก
“ในปี 2558 เป็นต้นไป จะขยายผลดำเนินการในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดทั่วประเทศ คือ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลสังกัดกรมวิชาการ รวมทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมกว่า 10,000 แห่ง เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนไทย แนวทางการดูแลดังกล่าว เป็นการประสานความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วยเป็นสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา นักโภชนากร เภสัชกร จิตอาสา นักบวชในศาสนาต่างๆ และที่สำคัญคือครอบครัวของผู้ป่วย” นายแพทย์สมศักดิ์กล่าว
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า แนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) เป็นแนวทางการดูแลที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญ และมีการดูแลแบบประคับประคอง/ระยะสุดท้าย เกือบทุกประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมีการดำเนินการดูแลแบบประคับประคอง/ระยะสุดท้าย มาเป็นเวลามากกว่า 1 ทศวรรษ แต่ยังไม่ครอบคลุมโรงพยาบาลทั่วประเทศ การดูแลจะเน้นทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยมุ่งเน้นบรรเทาอาการทุกข์ทรมาน บำบัดตามอาการที่ปรากฏ เช่น การให้ยาบรรเทาอาการปวด รวมทั้งการใช้ศาสตร์แขนงต่างๆ มาร่วมในการให้การดูแล เช่น ความเชื่อทางศาสนา ดนตรีบำบัด การนวดประคบ การทำสมาธิ ฯลฯ เปิดโอกาสให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง
หากผู้ป่วยต้องการกลับไปใช้ชีวิตระยะสุดท้ายที่บ้าน ครอบครัว/ผู้ดูแลจะได้รับคำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยที่บ้านด้วยตนเอง โดยครอบครัว/ผู้ดูแลสามารถโทรมาขอคำปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งมีหน่วยเยี่ยมบ้านไปช่วยดูแล/ช่วยเหลือตามสภาพอาการของผู้ป่วย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงระยะท้ายของชีวิต
- 41 views