มติบอร์ดสปสช.รับทราบข้อเสนอจัดสรรงบบัตรทองปี 58 จากสธ. ให้อนุกก.ทำงานร่วมในรายละเอียดที่สธ.เสนอและทดลองคำนวณที่เขต 2 และเขต 10 ก่อน ยึดหลักการมีส่วนร่วมเพื่อเปรียบเทียบกับวิธีการจัดสรรแบบเดิมว่าแตกต่างอย่างไร สำหรับกรณีโรคเฉพาะบางโรค เมื่อบริหารระดับเขตแล้วมีประสิทธิภาพดีขึ้น เหลือระดับประเทศไว้เท่าที่จำเป็น เขตต้องรองรับบริหารได้และเป็นประโยชน์แก่ประชาชน  และลดรายงานให้เหลือน้อยที่สุด

8 ธันวาคม 2557 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาประเด็นที่อาจต้องปรับแก้แนวทางการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2558

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง กล่าวว่า หลังจากที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ทำข้อเสนอแนวทางจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2558 เพื่อให้บอร์ดสปสช.พิจารณาปรับวิธีการกระจายงบประมาณ ซึ่งมติบอร์ดสปสช.ได้มอบให้อนุกรรมการพัฒนาระบบเงินการคลัง หารือร่วมกับ สธ. โดยให้ได้ข้อยุติภายใน 2 เดือนนั้น ผลจากการหารือได้ข้อสรุปดังนี้

1.เสนอให้รับทราบข้อเสนอของ สธ. เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1.1 รับทราบข้อเสนอการบริหารที่จะให้มีการปรับปรุงการบริหาร งบผู้ป่วยนอก (OP) งบผู้ป่วยใน (IP) งบบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค (PP basic service) โดย คณะอนุกรรมการขอไปทำงานร่วมกับ สธ. และ สปสช. ในรายละเอียด โดยให้เขต 2, 10 เป็นเขตตัวอย่างในการทำข้อเสนอให้เสมือนจริง ถึงในระดับสถานพยาบาล เปรียบเทียบกับการทำงานที่ทำอยู่เดิม รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมารายงานความก้าวหน้าก่อน แล้วจึงเสนอบอร์ดสปสช.เพื่อพิจารณาปรับปรุงหลักการและวิธีการงบประมาณ

1.2 เสนอให้รับหลักการการปรับปรุงเกี่ยวกับการบริการโรคเฉพาะ ภายใต้เหตุผลที่ว่า โรคเฉพาะบางประเภทเมื่อมีการบริหารในระดับเขตจะมีประสิทธิภาพดีขึ้น ยึดหลัก 4 ข้อ คือ

Ø ลดการบริหารระดับประเทศเหลือไว้เฉพาะที่จำเป็น 

Ø เพิ่มการบริหารระดับเขตโดยเขตต้องสามารถรองรับการบริหารได้และเป็นประโยชน์กับประชาชน 

Ø ปรับเป็นงบค่าหัวปรกติเมื่อมีศักยภาพ

Ø ลดการรายงานให้เหลือน้อยที่สุด 

ทั้งนี้ให้เตรียมการให้การถ่ายทอดเป้าหมายระดับประเทศที่เหมาะสมลงสู่เขต เช่น การทำฟันเทียมและต้อกระจก และให้สามารถเริ่มดำเนินการในไตรมาสที่สาม (เมษายน-มิถุนายน 2558) และพร้อมที่จะปรับปรุงในปี 2559

1.3 เสนอให้รับหลักการปรับปรุงการบริหารกองทุนที่ร่วมกับ อปท. ให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และเสนอให้แยกงบส่วนนี้ต่างหากตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป

2.ในขณะที่ยังดำเนินการอยู่ ขอให้ สปสช.บริหารงบไปตามประกาศบอร์ดสปสช.เรื่องแนวทางจัดสรรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2558 ไปก่อน

3.ให้สปสช.ขอข้อมูลตามจำเป็นภายใต้โครงสร้างข้อมูลของสธ. หากมีความจำเป็นจะต้องใช้ข้อมูลเพิ่มเติมให้ประสานงานขอความเห็น สธ.ก่อน

4.ขอให้สธ.รับไปพิจารณาตั้งโครงการพัฒนาข้อมูลผู้ป่วยทั้งระบบ

5.ขอให้สธ.พิจารณาของบประมาณเพิ่มเติมสำหรับค่าใช้จ่ายบุคลากรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในส่วนที่สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยตามงบประมาณที่ได้รับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป

ด้าน ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาผลการหารือระหว่าง สธ.และสปสช. ที่คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังนำเสนอมา ซึ่งบอร์ดสปสช.มีมติรับทราบข้อเสนอดังกล่าวและเห็นว่า ในการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2558 นั้น มีหลักการว่าไม่ว่าจะแก้ไขอย่างไร จะต้องไม่ให้กระทบกับหลักการแยกผู้ให้บริการและผู้จัดหาบริการ หรือ Provider-Purchaser Split โดยเด็ดขาด และเห็นว่าตามข้อเสนอที่คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังนำเสนอมานั้น ต้องใช้เวลาที่จะต้องไปดำเนินการคำนวณเสมือนจริง(Simulation)ในบางเขต และไม่ทันในไตรมาสที่ 2 (มกราคม-มีนาคม 2558) ดังนั้นในไตรมาสที่ 2 นี้ยังใช้หลักการจัดสรรงบประมาณตามประกาศเดิม และหากสามารถดำเนินการได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในไตรมาสที่ 3 ก็จะปรับการเปลี่ยนแปลงให้ แต่ขอให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่มั่นใจว่าจะได้รับทราบหลักการจัดสรรเงินก่อนที่จะมีการปฏิบัติงานจริงเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการดำเนินงาน ส่วนกรณีข้อเสนอให้สธ.พิจารณาของบประมาณเพิ่มเติมสำหรับค่าใช้จ่ายบุคลากรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3,000 คน เพื่อมาดูแลประชาชนนั้น จะเสนอของบกลางเพื่อมาบรรเทาปัญหาตรงนี้