นสพ.มติชน : คกก.ประสานระบบสุขภาพแห่งชาติสามกองทุน เล็งวางระบบ'เคลียริ่ง เฮาส์' เบิกจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยในทุกสิทธิ ยันไม่คิดรวม 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ
นายอัมมาร สยามวาลา
นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานระบบสุขภาพแห่งชาติสามกองทุน เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการประสานระบบสุขภาพแห่งชาติสามกองทุน ซึ่งประกอบด้วย กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขณะนี้คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้มีการพิจารณาเรื่องการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยในที่ใช้สิทธิจากทั้ง 3 กองทุน โดยมีแนวคิดให้ทุกสิทธิทำเรื่องเบิกจ่ายไปที่หน่วยงานกลาง หรือที่เรียกว่า "เคลียริ่งเฮาส์" เบื้องต้นอาจให้สำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) ทำหน้าที่นี้ ก่อนจะทำเรื่องส่งต่อไปเรียกเก็บจากกองทุน อื่นๆ ในภายหลัง
"นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาเรื่องการดำเนินโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรีทุกโรงพยาบาลโดยไม่ถามสิทธิ โดยหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 กองทุน และสถานพยาบาลที่ให้บริการว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นแมลงเม่าเข้ารักษาพยาบาลแล้วต้องเสียเงินค่ารักษาจำนวนมาก เพราะบางรายต้องจ่ายสูงถึงล้านบาท แต่ยอดรวมทั้งหมดเป็นอย่างไรนั้น ยังไม่ได้รวบรวม ต้องดำเนินการต่อไป" นายอัมมารกล่าว และว่า เบื้องต้นมี 2 แนวคิดคือ 1.การเจรจาเรื่องอัตราค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสมเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยโรงพยาบาลเอกชนรับได้หรือไม่ หากรับไม่ได้ก็ต้องชี้แจงกับประชาชนต่อไปว่าการเจรจาไม่เป็นผล 2.เมื่อการเจรจาไม่เป็นผล อาจจะต้องพิจารณาออกเป็นกฎหมายบังคับ ส่วนกรณีที่มีผลการวิจัยออกมาอย่างชัดเจนว่าระบบประกันสังคมให้สิทธิประโยชน์กับผู้ประกันตนน้อยมาก ทั้งๆ ที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือนนั้น เรื่องนี้คณะกรรมการเห็นว่าต้องมีการสะสาง ทำให้สิทธิประโยชน์ต้องไม่ด้อยไปกว่าระบบบัตรทอง โดยเฉพาะเรื่องของคนพิการต้องได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ และเฉพาะเรื่องของคนพิการนั้น ได้มีการบรรจุอยู่วาระที่ต้องหารือกันในการประชุม ครั้งต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการได้มีการหารือเรื่องการรวม 3 กองทุนสุขภาพ เข้าเป็นกองทุนเดียวหรือไม่ นายอัมมารกล่าวว่า มีความพยายามที่จะผลักดันให้มีการรวมกองทุนกันมาก แต่ส่วนตัวแล้วเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่ต้องรวมกัน และเกรงว่าอาจจะเกิดแรงต่อต้านโดยเฉพาะจากประชาคมประกันสังคม และประชาคมข้าราชการ เพราะจะทำให้ประชาคม 2 กลุ่มนี้รู้สึกว่าเสียสิทธิที่ต้องไปรวมกับกลุ่มบัตรทองที่มีงบประมาณน้อย และได้รับงบจากรัฐเพียงทางเดียวเท่านั้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557
- 3 views