นสพ.โพสต์ทูเดย์ : นโยบายสำคัญที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปั้นมากับมือก็คือการจัดทำ "เขตบริการสุขภาพ" ซึ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ข้ามมาจนถึงรัฐบาลชุดนี้ปลัดณรงค์ยังยืนยันว่า เขตสุขภาพของเขายังคงเดินหน้าเต็มกำลัง และ คสช.เองก็เห็นด้วยกับการบริหารจัดการในรูปแบบเขตขณะนี้
นพ.ณรงค์ เกริ่นให้ฟังว่า ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของระบบสุขภาพเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2554
ระหว่างที่เขาเป็นรองปลัด สธ. ซึ่งขณะนั้นเริ่มเห็นชัดว่าการปล่อยให้โรงพยาบาลเป็นอิสระ บริหารจัดการด้วยตัวเอง และให้กระทรวงเป็นเพียงผู้สนับสนุนนั้น อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนัก เพราะก่อนหน้านี้การบริหารจัดการหลายโรงพยาบาลเริ่มเคว้งเกณฑ์การบริหารจัดการกลางเริ่มหลวมขึ้น และทิศทางเริ่มสะเปะสะปะ
"หลังจากนั้นเราก็กลับมาดูใหม่ว่าควรจะเดินต่อไปอย่างไร เราก็นัดคุยกันเรื่องปฏิรูปโครงสร้างกระทรวง แล้วก็มีการระดมความคิดเห็นของภาคีจาก สธ.ทั้งหมด รวมถึงเอ็นจีโอ และองค์กรตระกูลส.ทั้งหลายมาช่วยกันดู
"ซึ่งท่านรัฐมนตรีช่วย (นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์)ก็มาช่วยมอง ท่านณรงค์ศักดิ์ (นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ) ก็มาช่วยกันมอง สุดท้ายก็สรุปว่ากระทรวงควรปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะในรูปแบบเขตบริการสุขภาพ ส่วนจะให้โรงพยาบาลแยกตัวเป็นอิสระหลังจากนั้น ก็แล้วแต่ความพร้อม ผมก็ตั้งต้นจากตรงนั้น" ปลัด สธ.อธิบาย
ปลัดณรงค์ บอกอีกว่า หลักการสำคัญของเขตบริการสุขภาพคือต้องสร้างความเท่าเทียมให้มากที่สุด การได้รับบริการของประชาชนต้องไม่กระจุกตัว และการแชร์ทรัพยากรคือหัวใจสำคัญ
"มันอาจจะไม่สามารถทำให้ทุกจังหวัดเท่าเทียมได้ เช่น หมอหัวใจไม่สามารถมีทุกจังหวัดได้ แต่พอถึงระดับเขตมันต้องเท่าเทียม ส่วนระดับจังหวัดก็รองลงมา ขณะที่ระดับชุมชนก็ต้องใช้ทรัพยากรร่วมกัน
"ขณะนี้ผมเชื่อว่าเริ่มเห็นแล้ว เริ่มมีการกำหนดโดยทีมเขตว่าโรงพยาบาลใหญ่จะไปช่วยโรงพยาบาลเล็กได้อย่างไร และจะจัดบริการอะไรบ้างให้ได้มากขึ้น หากไม่สามารถย้ายคน ก็ย้ายเงินได้ หรือถ้าปัจจุบันเครื่องมือราคาแพงจะลงเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ แต่ด้วยการจัดการรูปแบบเขตสุขภาพ เครื่องมือราคาแพงจะสามารถลงไปยังโรงพยาบาลชุมชนได้ด้วย" นพ.ณรงค์ กล่าว
เขายกตัวอย่างการบริหารจัดการที่ อ.หาดใหญ่จ.สงขลา ซึ่งขณะนี้คนไข้มะเร็งภาคใต้สามารถไปที่โรงพยาบาลนาหม่อม ซึ่งอยู่ห่างจากโรงพยาบาลหาดใหญ่ 23 กม.ได้แล้ว โดยที่ได้รับบริการไม่ต่างกัน หรือผู้ป่วยที่จะไปทำกายภาพ ก็สามารถไปทำที่โรงพยาบาลบางกล่ำ ซึ่งอยู่ห่างไป 25 กม.ได้ โดยที่ได้รับบริการเท่าเทียมกัน ซึ่งในที่สุดจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องความแออัด รวมถึงทำให้งานบูรณาการได้ดีขึ้น
"ผมยืนยันว่าตอนนี้คนเข้าถึงบริการในรูปแบบเขตสุขภาพได้แล้ว แต่บางเรื่องต้องใช้เวลา เช่น ผู้ป่วยจิตเวช หรือบางโรคที่เรายังมีหมอไม่เพียงพอ ทีนี้ประเด็นต่อมา เราตั้งต้นด้วยเขตของเรา แต่มันต้องไปเชื่อมที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย อะไรที่สูงกว่าเขต โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยรับไป อันนี้คือการจัดบริการทั้งเขตจริงๆ ที่อยากเห็น จะได้ไม่ลงทุนทับซ้อนกัน" นพ.ณรงค์ ระบุ
ปลัด สธ. กล่าวอีกว่า นโยบายดังกล่าวอาจมีคนไม่เข้าใจอยู่บ้าง เช่น หลายโรงพยาบาลบอกว่าต้องการจะเป็นแค่นี้ ก็ต้องปรับให้มากกว่านี้ ส่วนหลายโรงพยาบาลที่พัฒนามากเกินไป เกินสัดส่วนประชากรเช่น ประชากรมีเท่านี้ คนเท่านี้ แต่ขอตึกเพิ่ม ก็ต้องลดลง ซึ่งทั้งหมดระบบเขตจำเป็นต้องคิดร่วมกันว่าจะพัฒนาโรงพยาบาลนี้เพียงแห่งเดียวไม่ได้ แต่ต้องวางแผน ร่วมกับการประเมินข้อมูลโรค และข้อมูลประชากร แล้วจัดสรรทรัพยากรให้เป็นไปตามนั้น
"แต่ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่อะไร ทุกวันนี้โรงพยาบาลใหญ่ต้องออกไปช่วยโรงพยาบาลเล็ก ทุกโรงพยาบาลขณะนี้ก็ออกไปทำอะไรข้างนอกหมดแล้ว จากเดิมที่หมอตาอยู่แต่ในโรงพยาบาล เขาก็ไปช่วยโรงพยาบาลอำเภอเล็กๆ ผ่าต้อ ส่วนหมออายุรกรรมก็ไปช่วยโรงพยาบาลเล็กๆ ข้างนอก ให้ช่วยผ่าโรคหลอดเลือดหัวใจได้ ฉะนั้นความเข้าใจเรื่องรวบอำนาจหรือให้โรงพยาบาลใหญ่เป็นศูนย์กลางน่าจะเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูก" นพ.ณรงค์ ระบุ
นอกจากนี้ การจัดการรูปแบบเขตบริการสุขภาพในแนวคิดของปลัดณรงค์ยังคงยึดหลักกระจายอำนาจให้ "ผู้ตรวจราชการ สธ." บริหารเต็มที่ รวมถึงการจัดการงบประมาณและจัดการคนเนื่องจากเป็นผู้ที่รู้ปัญหาดีที่สุด โดยอาจจะเป็นคนดูแลทั้งการกระจายตำแหน่งบุคลากร รวมถึงในอนาคต อาจกระจายไปถึงขั้นว่าแต่ละเขตควรจะมีอำนาจการตัดสินใจจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรอย่างไร โดยสธ.จะทำหน้าที่เฉพาะการมอบนโยบาย ดูแลเกณฑ์กลาง หรือกำกับควบคุมเท่านั้น
นพ.ณรงค์ ยืนยันว่าในอนาคตหากระบบเขตสุขภาพเดินหน้าต่อไป โดยทุกคนร่วมมือกัน จะไม่มีภาพการเข้าไปโรงพยาบาลแล้วเจอคนไข้นอนกันอย่างแออัดแน่นอน เพราะโรงพยาบาลเล็กสามารถผ่าตัดได้มากขึ้น ขณะที่โรงพยาบาลใหญ่จะเป็นผู้ดูแลเฉพาะโรคที่ซับซ้อนเท่านั้น ส่วนแนวคิดการให้โรงพยาบาลเป็นอิสระ บริหารด้วยบอร์ดของโรงพยาบาลเองนั้น เขายืนยันว่ายังไม่น่าจะเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้
"บางคนอาจจะพูดว่า โรงพยาบาลต้องเป็นอิสระทั้งหมด แต่ผมถามว่า วันนี้ถ้ามันอิสระหมดแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น คนที่อยู่รอดได้คือคนที่มีเงินมีพื้นที่ แล้วอยู่ไม่รอดคือใคร จะอยู่กับใครต่อ อยู่กับกระทรวงเหรอ" นพ.ณรงค์ กล่าว
เมื่อถามว่าขัดแย้งกับนโยบายรัฐบาลหรือไม่ นพ.ณรงค์ บอกว่า นโยบายรัฐบาลตั้งแต่ยังไม่มีรมว.สธ. ข้อ 5.2 ชัดเจนว่าต้องการให้มีการสร้างกลไกจัดการสุขภาพระดับเขตไม่ให้กระจุกอยู่ส่วนกลาง และทหารได้จัดให้มี "เขตสุขภาพประชาชน"ซึ่งไม่ใช่เฉพาะของ สธ.ฝ่ายเดียว แต่มีพันธสัญญาให้คนอื่นทำด้วย
"หมายถึงถ้าเขตสุขภาพบอกว่าให้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยทำอย่างนี้นะ เขาก็ต้องทำด้วย ตามเขตสุขภาพประชาชน เพราะฉะนั้นที่บอกว่าต้องมีพันธสัญญาคืออย่างนี้ ซึ่งเราก็เริ่มประสานไปยังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแล้ว คิดว่าน่าจะได้เพราะเป็นภาครัฐด้วยกัน"
"ส่วนโรงพยาบาลเอกชนน่าจะยัง แต่ทิศทางหลังจากนี้ เราอาจจะเป็นหน่วยงานสุขภาพระดับชาติ(National Health Authority) เพื่อทำหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลโรงพยาบาลเอกชนตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาลให้ชัดเจนขึ้น" นพ.ณรงค์ ระบุ
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2557
- 5 views