จากกระแสสังคม และข้อวิพากษ์วิจารณ์อีกด้านต่อกองทุนรักษาพยาบาลของประกันสังคม รวมถึงผลงานวิจัยล่าสุดของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ที่พบว่ากองทุน สปส. สิทธิรักษาพยาบาลยอดแย่-ขาดการพัฒนา ไม่เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน ทำให้เกิดคำถามหนักขึ้นกับกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศนี้ที่มีเงินสะสมกว่าเก้าแสนล้านบาท ซึ่งบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาจำนวนกว่าแสนคนที่ไม่ใช่ข้าราชการ ก็อยู่ในกองทุนนี้ ต้องจ่ายต่อหัว 750 บาทต่อเดือน มหาวิทยาลัยจ่าย 750 บาทต่อเดือน และรัฐจ่าย 425.50 บาทต่อเดือน ซึ่งรวมแล้ว 1,925.50 บาทต่อเดือน เป็นเงินที่ต้องจ่ายมากกว่าระบบราชการเดิมที่รัฐแบกภาระต่อหัวข้าราชการเดือนละ 1,000 บาทต่อสิทธิ์ข้าราชการ 1 ราย
ทางศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) ได้รับทราบข้อมูลด้านยาจากสมาชิกศูนย์ประสานงานฯ ซึ่งท่านเป็นอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ ระบุเกรดยาสั้นๆ เพื่อแชร์ให้รู้บัญชียาบางรายการ ที่รู้แล้วจะหนาว เพราะท่านอาจหายไวขึ้นเมื่อกินยาเหล่านี้ ดังนี้
1.ประกันสังคม ไม่สามารถใช้ยาที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่สิทธิ์ข้าราชการใช้ยานอกบัญชีได้หมดแค่แพทย์เซ็น
2.ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประกันสังคม ใช้ได้ แต่เกรดต่างกัน เช่น ยาไขมัน Rosuvastatin ซึ่งมีราคาแพง ประกันสังคม ใช้ไม่ได้ แต่ให้ไปใช้ Simvastatin ซึ่งมีราคาถูกมากแทน ซึ่ง Rosuvastatin ลดไขมันได้ดีกว่ายาที่ประกันสังคมให้ใช้Simvastatin ซึ่งลดไขมันได้น้อยกว่า โดยเพิ่มขนาดรับประทานแต่ถ้าเพิ่มมากเกิดผลข้างเคียง
3.กลุ่มที่ยาไวรัสตับอักเสบบี และซี เช่น Peginterferon เข็มเป็นหมื่น รักษาครบซื้อ Honda Accord ได้คันนึงข้าราชการใช้ได้สบายใจ ส่วน ประกันสังคมหมดสิทธิ์ ต้องไปใช้ ยา lamivudine เม็ดหนึ่ง 2-3 บาท
4.ยาลดกรด เช่นกลุ่ม Prevacid และ Nexium มีประสิทธิภาพการรักษาดีมากราคาต่างกันมหาศาลกับ ยาเกรด ประกันสังคมราคาห่วยๆ คือ Miracid(Omeprazole) กล่อง ละ 10 บาท ประสิทธิภาพก็ตามเนื้อผ้า
5.ยาต้านเชื้อราเช่น Caspofungin รักษาเชื้อราดื้อยา และมีพิษต่อไตน้อย ข้าราชการใช้ได้เต็มที่ ส่วนประกันสังคมใช้ Amphotericin B ซึ่งมีพิษต่อไตสูง
6.อีกตัวอย่างสุดท้าย คือยาแก้ปวด Arcoxia และ Celebrex เป็นยาแก้ปวดที่ไม่กัดกระเพาะ ราคาแผงละ 300 บาท ข้าราชการเท่านั้นที่ใช้ได้ ส่วนประกันสังคมจะต้องใช้ Ibuprofen หรือ Diclofenac แผงละ 25 บาท ซึ่งระคายเคืองกระเพาะสูง เสี่ยงต่อเลือดออกในทางเดินอาหาร โดยเฉพาะคนที่มีประวัติเป็นโรคกระเพาะมาก่อนยิ่งเสี่ยงมาก
บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาจำนวนกว่าแสนคนที่ไม่ใช่ข้าราชการ นอกจากจะมีสัญญาจ้างแบบพนักงานมหาวิทยาลัย มีความเสี่ยงในหน้าที่การงานสูงแล้ว ต้องมาเสี่ยงเพิ่มกับยาเกรดประกันสังคม ร่วมชะตากรรมกับพี่น้องผู้ประกันตนอีกหลายล้านคน เรียกว่า เสี่ยงเบิ้ลสองเด้ง ถึงเวลาหรือยัง ปฏิรูประบบประกันสุขภาพ คืนความสุขให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศอย่างเท่าเทียมกัน
ผู้เขียน รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES)
- 12045 views