ประกันสังคมออกโรงโต้ คุณภาพยารักษาโรคได้มาตรฐานตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ชี้จ่ายยาตามคำสั่งแพทย์ แนะมีปัญหาให้เข้าร้องเรียนโดยตรง หากพบแพทย์วินิจฉัยโรคพลาด รพ. ต้องรับผิดชอบ
นายโกวิท สัจจวิเศษ ผู้ตรวจสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงกรณีที่ รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกมาระบุว่า ยาที่ผู้ประกันได้รับจากการใช้สิทธิประกันสังคม มีคุณภาพด้อยกว่ายาที่ใช้รักษาของระบบข้าราชการ ใน 5 กลุ่มได้แก่ 1. ยาไขมัน 2. กลุ่มยาไวรัสตับอักเสบซีและบี 3. ยาลดกรด 4. ยาต้านเชื้อรา และ 5. ยาแก้ปวด ว่า การใช้สิทธิข้าราชการมาเป็นบรรทัดฐานในการตีความว่า ยาที่แพทย์สั่งดีกว่าสิทธิประกันสังคมนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากการใช้ยาแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้สั่งว่ายาตัวใดเหมาะสมกับผู้ป่วยรายใด ผู้ป่วยแต่ละคนแม้เป็นโรคเดียวกันแพทย์อาจสั่งใช้ยาต่างกัน ขึ้นกับอาการปัจจัยที่เกี่ยวข้องและแพทย์ใช้หลักการของการประกอบโรคศิลปะในการพิจารณาวิธีการรักษา
"ยาที่ สปส. ใช้นั้นเป็นยาที่ไม่ด้อยไปกว่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติในบางครั้งก็มีการจ่ายยาในบัญชียา จ. (2) คือ ยาที่มีราคาสูงขึ้นมา แต่ต้องใช้โดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการอนุมัติสั่งยาเท่านั้น ทั้งนี้การที่บางครั้งแพทย์ใช้ยาที่มีราคาแพงเนื่องจากยาในบัญชียาหลักอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการรักษาเฉพาะรายนั้นๆ" นายโกวิท กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่รพ.จ่ายยาราคาถูกให้ผู้ประกันตนเพื่อเป็นการลดต้นเรื่องนี้มีข้อจริงเท็จแค่ไหน นายโกวิท กล่าวว่า สปส.จะเป็นผู้จัดส่งยาทุกตัวให้โรงพยาบาล ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับที่ สปสช.ใช้ เพราะฉะนั้นมั่นใจได้ว่ามีคุณภาพ โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยจ่ายยาตามอาการที่เป็น และจะต้องเป็นไปตามลำดับอาการไม่สามารถจ่ายยาที่รุนแรงเกินไปได้ แต่ที่เป็นเด็นเนื่องจากผู้ประกันตนที่เข้ารับการรักษามองว่าตนจะต้องได้รับยาที่ดีที่สุดจึงอาจจะเลยขั้นตอนของการรักษาโดยอยากรับยาที่แรงขึ้น อีกสาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากการที่รพ.มีการแยกส่วนของการรักษาเช่น แยกตึกสำหรับผู้ประกันตน และตึกพิเศษที่สามารถจ่ายยาที่นอกเหนือจากสิทธิประกันสังคม ทำให้ถูกมองว่ามีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น
"หลังจากที่มีการร้องเรียนและกรณีต่างเกิดขึ้นมาต่อเนื่องทางสปส.จึงจะจัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเพื่อชี้แจงในประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ให้ประชาชนและสื่อมวลชนรับทราบเพื่อจะได้ทำความเข้าใจในสิทธิของตนเองและวิธีการเข้ารับการรักษารวมถึงการร้องเรียนในกรณีที่เกิดปัญหาต่างๆ คาดว่าจะสามารถจัดงานดังกล่าวขึ้นในเดือนธันวาคมนี้" นายโกวิท กล่าว
ตอบข้อซักถามที่ผ่านมา มีผู้ประกันตนบางรายร้องว่า ผู้ประกันตนไปพบแพทย์หลายครั้งที่โรงพยาบาลเดิมแต่กลับได้รับยาและการรักษาแบบเดิมทั้งที่อาการไม่ดีขึ้น โดยที่ไม่มีการวินิจฉัยเพิ่มเติมจนต้องไปรักษาเองที่โรงพยาบาลอื่น นายโกวิท บอกว่า อยากให้ผู้ประกันตนร้องเรียนมายัง สปส.หรือทางคณะกรรมการอุทธรณ์ ของ สปส. ที่มีตัวแทนแพทย์ นายจ้าง ลูกจ้างร่วมกันพิจารณา ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ แต่แพทย์ของรพ. ในระบบประกันสังคมวินิจฉัยว่าเป็นอาการปวดท้องธรรมดา เมื่อผู้ประกันตนไปรักษาที่ รพ. อื่น รพ. ในระบบประกันสังคมที่ผู้ประกันตนมีสิทธิก็ต้องรับผิดชอบคนไข้ เนื่องจากการวินิจฉัยไม่ได้มาตรฐาน และต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลของผู้ประกันตน เนื่องจากเป็นความผิดพลาดของแพทย์ นอกจากนี้ก็จะนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการการแพทย์ (บอร์ดการแพทย์) ของ สปส. เพื่อพิจารณาว่า รพ. นี้มีมาตรฐานในการรักษาหรือไม่ หากไม่มีก็จะนำไปสู่การยกเลิกสัญญา
"อยากให้ผู้ประกันตนที่ประสบปัญหาเรื่องนี้และไม่มีเงินค่ารักษาพยาบาลที่เพียงพอจะไปรักษาเอง รีบยื่นเรื่องมาที่สำนักบริการทางแพทย์ เพื่อให้มีบอร์ดประชุมพิจารณาและดำเนินการตรวจสอบประวัติคนไข้ รวมทั้งประวัติการรักษาพยาบาลว่ามีมาตรฐานหรือไม่ ด้วยการให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยโดยจะใช้เวลาในการพิจารณา 1 - 2 เดือน ซึ่งระหว่างการยื่นเรื่องมาที่ สปส. ก็ให้ผู้ประกันตนทำการรักษาพยาบาลไปตามปกติ แต่หากผู้ประกันตนยินดีจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองก่อน และมายื่นอุทธรณ์ในภายหลังอาจต้องใช้เวลาประมาณ5 - 6 เดือน เนื่องจากมีเรื่องยื่นเข้ามาเป็นจำนวนมาก" โฆษก สปส. กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 28 พ.ย. - 01 ธ.ค. 2557
- 46 views