บอร์ดประกันสังคมปรับเกณฑ์จ่ายค่าทำฟัน จาก 600 บาท/ปี เพิ่มเป็น 900 บาท/ปี เริ่ม 12 ส.ค.นี้ พร้อมเปิดนำร่องใช้สิทธิทำฟันไม่ต้องสำรองจ่ายใน กทม.และอีก 18 จังหวัด คาดเริ่มได้ตั้งแต่ 29 ส.ค. และขยายสิทธิผู้ประกันตนทุพพลภาพ ก่อน 31 มี.ค.38 ได้รับสิทธิกรณีทุพพลภาพตลอดชีวิต ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.58

นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ล่าสุดสำนักงานประกันสังคมได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการกรณีทันตกรรมในระบบประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นการขูดหินปูน อุด ถอน และผ่าฟันคุด จาก 600 บาท/ราย/ปี เพิ่มเป็น 900 บาท/ราย/ปี ทั้งนี้ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 900 บาทต่อปี โดยจ่ายตามอัตราค่าบริการทางการแพทย์ตามที่ประกาศคณะกรรมการการแพทย์กำหนด บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2559 เพื่อเป็นของขวัญวันแม่ให้กับผู้ประกันตน

นายโกวิท กล่าวต่อว่า สำหรับการนำร่องการใช้สิทธิทันตกรรม โดยไม่ต้องสำรองจ่ายค่าบริการทันตกรรม มีจังหวัดนำร่องดังนี้ กรุงเทพมหานคร 12 เขตพื้นที่ และ 18 จังหวัด (ปทุมธานี อ่างทอง สมุทรปราการ สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม ชุมพร พังงา สตูล จันทบุรี บึงกาฬ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร ชัยภูมิ เชียงใหม่ แพร่ อุตรดิตถ์ อุทัยธานี) โดยมีการประกาศรับสมัครสถานพยาบาลตั้งแต่วันที่ 15 – 19 สิงหาคม 2559 ลงนามบันทึกความร่วมมือในระหว่างวันที่ 22 – 23 สิงหาคม 2559 สำนักงานประกันสังคมจะประชาสัมพันธ์สถานพยาบาลนำร่องให้ทราบและผู้ประกันตนสามารถใช้บริการสถานพยาบาลนำร่องได้ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป 

นายโกวิท กล่าวต่ออีกว่า เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2559 ได้มีประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง กำหนดอัตราและระยะเวลาการได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ โดยมีสาระสำคัญดังนี้ ในกรณีผู้ประกันตนที่สูญเสียสมรรถภาพของร่างกายไม่ถึงร้อยละ 50 ของร่างกาย มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพ และกรณีผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ ก่อน 31 มีนาคม 2538 ได้รับสิทธิกรณีทุพพลภาพตลอดชีวิต ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 เป็นต้นมา

ราคากลางกิจกรรมบริการทันตกรรม (จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 900 บาท/ราย/ปี)

1.ขูดหินปูนทั้งปาก 400 บาท

2.อุดฟันด้วยวัสุด Amalgam 
-  1 ด้าน 300 บาท
-  2 ด้าน 450 บาท

3.อุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน
-  1 ด้าน (ฟันหน้า) 350 บาท (ฟันหลัง) 400 บาท
-  2 ด้าน (ฟันหน้า) 400 บาท (ฟันหลัง) 500 บาท

4.ถอนฟัน (ฟันแท้) 250 บาท ถอนฟันที่ยาก 450 บาท

5.ผ่าฟันคุด 900 บาท

หมายเหตุ อ้างอิงอัตราค่าบริการของสถาบันทันตกรรม กระทรวงสาธารณสุข

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชี้ประกันสังคมเพิ่มวงเงินค่าทำฟัน 900 บ.ไม่ดีจริง สร้างภาระผู้ประกันตน