หมอรัชตะให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศจัดมุมนมแม่ เป็นต้นแบบส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่หน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้กรมอนามัยติดตามประเมินผลมุมนมแม่ในสถานประกอบการทั่วประเทศ ส่วนร่างพ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน

14 พ.ย.57 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับผู้แทนจากสมาพันธ์เครือข่ายนมแม่แห่งประเทศไทย ประกอบด้วยตัวแทนแม่ นักวิชาการ และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อแสดงความขอบคุณที่กระทรวงสาธารณสุข ผลักดันร่างพ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. ... ว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญต่อกฎหมายฉบับนี้ และจะผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนต่อไป ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งกรมอนามัยได้จัดขึ้นในวันนี้ มีภาคีเครือข่ายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ตัวแทนจากบริษัทผู้ประกอบการ กุมารแพทย์ สมาคมโภชนาการ เครือข่ายนมแม่ แม่ที่ให้นมบุตร ร่วมแสดงความคิดเห็นในแต่ละมุมมอง เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างรอบด้าน นำไปประกอบการพิจารณา ปรับปรุงแก้ไข ร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็กไทย หลังจากนั้นจะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามเห็นชอบเพื่อเสนอที่ประชุมครม. คณะกรรมการกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามกระบวนการจัดทำกฎหมายต่อไป

ศ.นพ.รัชตะกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมให้หญิงหลังคลอดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนครบ 6 เดือน จากนั้นให้กินนมแม่ต่อเนื่องและให้อาหารเสริมตามวัยจนลูกอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น เป็นไปตามแนวทางองค์การอนามัยโลกกำหนด โดยในปีนี้ ได้มอบหมายให้กรมอนามัย จัดทำแนวทางสนับสนุนให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจัดมุมนมแม่ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้บุคลากรเจ้าหน้าที่ในสังกัดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นต้นแบบแก่หน่วยงานอื่นๆ ต่อไป และให้ติดตามสนับสนุนให้เกิดมุมนมแม่ในสถานประกอบการอื่นๆ ทั่วประเทศด้วย ซึ่งขณะนี้มีหญิงคลอดบุตรปีละประมาณ 800,000 คน ในจำนวนนี้ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประมาณร้อยละ 12 หรือมีเด็กที่กินนมแม่อย่างเดียวครบ 6 เดือนเพียง 96,000 คน ซึ่งต่ำที่สุดในอาเซียน

นพ.ดนัย ธีวันดา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ โรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้งคลินิกนมแม่ และไม่มีการขายผลิตภัณฑ์นมผงในโรงพยาบาล รวมทั้งได้อบรมพยาบาลเป็นมิสนมแม่ เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนให้หญิงหลังคลอดให้นมบุตรภายใน 2 ชั่วโมงหลังคลอด และให้คำปรึกษาในรายที่มีปัญหา เช่นมีน้ำนมน้อย หัวนมบอด เป็นต้น นอกจากนี้ ได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และสสส. ส่งเสริมให้สถานประกอบการขนาดใหญ่จัดมุมนมแม่ ขณะนี้ดำเนินการได้ประมาณร้อยละ 20-30 โดยหญิงหลังคลอดบุตรของไทยที่มีข้อจำกัดในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่นติดเชื้อเอชไอวี เด็กแพ้โปรตีนในน้ำนมแม่ มีจำนวนน้อยมาก ไม่ถึงร้อยละ 1 ที่เหลือกว่าร้อยละ 99 สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

นพ.ดนัย กล่าวต่อว่า วัตถุประสงค์ของพ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกฯ ฉบับนี้คือการปกป้องสิทธิเด็กทุกคนให้มีโอกาสได้รับอาหารที่ดีที่สุด ด้วยการปกป้อง ส่งเสริม สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสร้างความมั่นใจว่า หากมีความจำเป็นต้องใช้นมผงหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แม่และครอบครัวจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ผ่านวิธีการส่งเสริมการตลาดที่เหมาะสม โดยไม่ได้ปิดกั้นหรือห้ามทำการตลาด ไม่มีมาตรการใดที่ขัดขวางการขายของผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด แต่มีสาระสำคัญคือ ควบคุมการส่งเสริมการตลาดของบริษัท ไม่ให้อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ไม่ชักจูงให้แม่เข้าใจผิดว่านมผงดีเทียบเท่าหรือดีกว่านมแม่ โดยเฉพาะการควบคุมการส่งเสริมการตลาดที่มาในรูปการเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนการจัดอบรมทางวิชาการ หรือใช้แพทย์พยาบาลเป็นพรีเซนเตอร์สินค้า เป็นต้น