สธ.ชี้ต้นเหตุการเกิดโรคเบาหวานในคนไทย อันดับ 1 เกิดมาจากน้ำหนักเกิน เนื่องจากการงดอาหารบางมื้อและรับประทานอาหารบางมื้อปริมาณมากเกินไป แนะให้รับประทานอาหารเช้า ช่วยป้องกันป่วยเป็นโรคเบาหวานได้ เพราะเป็นอาหารมื้อแรกของวัน ร่างกายต้องการนำไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด และลดการกินจุบจิบ สถิติล่าสุดในปี 2556 พบคนไทยเสียชีวิตจากเบาหวานเกือบ 10,000 ราย เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเกือบ 700,000 ครั้ง
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การอนามัยโลกและสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ กำหนดให้เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day)เพื่อรณรงค์ให้ทุกประเทศทั่วโลก รณรงค์ป้องกันพร้อมกัน โดยกำหนดประเด็นรณรงค์ระหว่างปี 2557 - 2559 คือ “การให้ความสำคัญสุขภาพและโรคเบาหวาน” (Healthy Living and Diabetes) รายงานล่าสุดทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานมากกว่า 347 ล้านคน จำนวนยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดในปีพ.ศ.2573 จะมีผู้ป่วยโรคนี้ถึง 552 ล้านคน และร้อยละ 80 อยู่ในประเทศด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ในส่วนประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กำหนดประเด็นรณรงค์ในปีนี้คือ “กินพอเพียง ไม่เสี่ยงเบาหวาน เลือกไม่ยาก เลือกให้เป็น เริ่มด้วยอาหารมื้อเช้า” เนื่องจากปัญหาโรคเบาหวานที่พบในประเทศ ร้อยละ 98 เกิดมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือเรียกติดปากว่าเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งป้องกันได้ ที่เหลือส่วนน้อยเพียงร้อยละ 2 เป็นเบาหวานที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ข้อมูลล่าสุดในปี 2556 ประชาชนไทยเสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 9,647 ราย เฉลี่ยวันละ 27 ราย และมีผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 698,720 ครั้ง ค่ารักษาปีละเกือบ 4,000 ล้านบาท ปัญหาของโรคนี้หากผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมอาการได้ จะทำให้เกิดไตวาย เท้าเน่า และตาบอดตามมา
พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้คนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น ที่พบมากที่สุดได้แก่ การมีน้ำหนักตัวเกิน และอ้วน ในปีนี้จึงได้เน้นการรณรงค์ให้ประชาชนทุกวัยหันมารับประทานอาหารมื้อเช้า เนื่องจากเป็นมื้ออาหารมื้อแรกของวัน ที่ร่างกายต้องการนำพลังงานไปใช้ทำกิจกรรมต่างๆ หลังจากนอนหลับตอนกลางคืน 8-12 ชั่วโมง เมื่อตื่นขึ้นในตอนเช้าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง ทำให้รู้สึกหิว หากไม่รับประทานอาหารมื้อเช้าเติมพลังงานให้กับร่างกาย ร่างกายจะดึงพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตที่สะสมไว้ในตับออกมาใช้ เพื่อเพิ่มน้ำตาลในเลือด นำไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ การงดหรืออดอาหารเช้าจะมีโอกาสน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนได้ง่ายกว่าคนที่กินอาหารเช้า เนื่องจากจะมีอาการโหยอาหารทั้งวันและจะทำให้กินอาหารมื้อต่อไปมากกว่าปกติ รวมทั้งกินจุบกินจิบทั้งวัน ซึ่งอาหารที่กินจุบจิบมักมีส่วนประกอบไขมันและน้ำตาลสูงทำให้น้ำหนักตัวขึ้นเร็ว ขณะเดียวกันในช่วงที่ร่างกายหิว จะกระตุ้นการสร้างและการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมาเพิ่มขึ้น เพื่อนำน้ำตาลเข้าเซลล์แล้วเปลี่ยนไปใช้เป็นพลังงาน หากมีปริมาณของฮอร์โมนอินซูลินมากเกินเป็นเวลานาน โดยที่ร่างกายไม่ได้รับอาหาร จะทำให้ร่างกายเกิดการตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินลดลง เป็นสาเหตุการเกิดโรคเบาหวานได้ในที่สุด
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประโยชน์ของอาหารเช้ายังช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมอาหารได้ดีขึ้น จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่าคนส่วนมากมักเข้าใจผิดว่าผู้ที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 2 ควรจะกินอาหารทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้งประมาณ 5-6 มื้อย่อยต่อวัน แต่ในความจริงแล้วผู้ที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี คือกลุ่มที่กินอาหาร 3 มื้อ โดยเน้นอาหารเช้า อาหารเที่ยง เป็นมื้อหลัก และกินอาหารมื้อเย็นน้อยลง นอกจากจะมีผลดีในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว ยังมีผลดีต่อการลดน้ำหนัก และทำให้ไขมันในตับยังลดลงด้วย
นพ.โสภณกล่าวต่อว่า โรคเบาหวาน เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ ทำให้น้ำตาลไม่สามารถเข้าสู่เซลล์ในร่างกายได้ตามปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกิน ในระยะยาวจะมีผลในการทำลายหลอดเลือด ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่สภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ อาการเบื้องต้นของเบาหวานคือ น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว ปวดปัสสาวะบ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะตอนกลางคืน มีมดมาตอมปัสสาวะ เนื่องจากมีน้ำตาลค้างในกระแสเลือดและอวัยวะต่างๆ อยู่มาก ไตจึงกรองน้ำตาลออกมาในปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะหวาน จึงเป็นที่มาของการเรียก เบาหวาน และมีอาการกระหายน้ำ ดื่มน้ำครั้งละมากๆ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายไม่มีเรี่ยวแรง เบื่ออาหาร เป็นต้น
ในการป้องกันโรคนี้ สามารถทำได้โดยการควบคุมน้ำหนักตัว โดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 วัน วันละ ไม่ต่ำกว่า 30 นาที รับประทานอาหารที่ไม่หวานจัด เพิ่มผักผลไม้ให้มากขึ้น ตรวจสุขภาพประจำปี ส่วนผู้ป่วยเบาหวาน ขอให้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำแพทย์ และไปตรวจตามนัดทุกครั้ง เพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมา เช่นโรคไต ตาต้อกระจก เป็นต้น
- 464 views