นักวิชาการ สสอ.โพทะเล หนุนหนังสือ สธ. ยกเลิกคีย์ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ เหตุซ้ำซ้อนจัดเก็บข้อมูล 43 แฟ้ม ช่วยลดภาระงาน “หมออนามัยหน้าจอ” มีเวลาดูแลสุขภาพชาวบ้านมากขึ้น แนะ สธ.ทำแอพพลิเคชั่น ใช้สำหรับดึงข้อมูลวิเคราะห์ พร้อมเสนอปรับการจัดสรรงบ รพ.สต. โอนงบที่ระดับอำเภอ พร้อมกระจายเงินตามโปรแกรม

นายชัยณรงค์ สังข์จ่าง

14 พ.ย.57 นายชัยณรงค์ สังข์จ่าง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอโพทะเล จ.พิจิตร กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีหนังสือส่งไปยัง สสจ.ทั่วประเทศ เพื่อปรับแนวทางการบันทึกข้อมูลสุขภาพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ว่า ทราบว่า สธ.ได้มีหนังสือฉบับดังกล่าวออกมา เป็นการยกเลิกภาระการบันทึกข้อมูลที่ต้องคีย์ผ่านทางเว็บไซต์ทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 10 รายการ ให้เหลือเพียงการบันทึกข้อมูลผ่านโปรแกรมสำเร็จรูป21/34 แฟ้ม ที่มีอยู่เดิมของ รพ.สต.เท่านั้น ที่บางแห่งใช้โปรแกรมการบันทึกของ สธ. บางแห่งใช้โปรมแกรมของเอกชน และบางแห่งใช้โปรมแกรมที่ได้พัฒนาขึ้นแอง เพื่อเป็นการลดภาระการคีย์ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ รพ.สต. เพื่อให้มีเวลาในการดูแลประชาชนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้การยกเลิกบันทึกข้อมูลผ่านทางเว็บไซด์ ในกรณีที่มีบางข้อมูลที่ยังจำเป็นต้องใช้ ให้มีการนำมาใส่เพิ่มเติมในฐานข้อมูลการบันทึก 21/34 แฟ้มได้ แต่เชื่อว่าจากการบันทึกข้อมูลโปรแกรมพื้นฐานได้ครอบคลุมแล้ว โดยการยกเลิกนี้เป็นเพียงการยกเลิกการบันทึกข้อมูลที่มีความซ้ำซ้อนออกไปเท่านั้น ซึ่งในกรณีที่จำเป็นต้องมีการใช้ข้อมูลใดๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ควรมีเครื่องมือในระดับส่วนกลางในการประมวลผลเพื่อดึงข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต.บันทึกเพิ่มเติมอย่างที่ผ่านมา  

“เป็นเรื่องที่ดีที่ สธ.ได้ระบบการบันทึกข้อมูล โดยให้ยกเลิกการบันทึกข้อมูลผ่านเว็บไซต์ทั้งหมด เพราะหลายอย่างเป็นงานบันทึกที่ซ้ำซ้อนที่สร้างภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่ รพ.สต.โดยไม่จำเป็น แม้ว่าอาจต้องมีการเพิ่มเติมการบันทึกข้อมูลใน 21/34 แฟ้มเพิ่มบ้าง แต่ก็ช่วยลดงานบันทึกข้อมูลจำนวนมากผ่านทางเว็บไซต์ลงได้ ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต.มีเวลาที่จะดูแลชาวบ้านได้มากขึ้น โดยเฉพาะงานดูแลสุขภาพเชิงรุกให้กับประชาชน” นายชัยณรงค์ กล่าวและว่า ทั้งนี้แม้ว่าทาง สธ.จะมีหนังสือนี้ส่งไปยัง สสจ.ทั่วประเทศแล้ว และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา แต่ทาง รพ.สต.ยังคงต้องรอคำสั่งจากจังหวัดก่อน ทำให้ รพ.สต.บางแห่งยังคงบันทึกข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ แต่บางแห่งได้ยกเลิกบันทึกแล้ว

นายชัยณรงค์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเคยเสนอว่าทางสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สธ. ควรจะมีการลงทุนในการทำแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้สำหรับการบันทึกและดึงข้อมูลเพื่อประมวลผลจากข้อมูล 21/34 แฟ้ม เป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้ทั่วประเทศ โดย สธ.ลงทุนเพียงครั้งเดียวแต่คุ้มค่า ประหยัด ไม่ใช่ปล่อยให้แต่ละจังหวัดพัฒนารูปแบบกันเอง ทำให้ภาพรวมไม่เพียงแต่ไม่คุ้มค่า แต่ยังบางครั้งยังเป็นปัญหา จึงควรมีระบบกลางเพื่อใช้สำหรับจัดการข้อมูลและประมวลผล

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในกรณีที่บางหน่วยงานต้องการให้มีการเก็บข้อมูลทางสุขภาพเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพ จะสามารถขอให้มีการจัดเก็บข้อมูลเพิ่มเติมได้หรือไม่ นายชัยณรงค์ กล่าวว่า ในกรณีที่เป็นข้อมูลเชิงนโยบายในการเฝ้าระวัง ปกติข้อมูลเหล่านี้จะมีการจัดเก็บอยู่แล้วเป็นระยะโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ต้องมีศักยภาพเพียงพอที่จะดึงข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ หรืออาจจะประกอบกับข้อมูลบันทึก 21/43 แฟ้มของทาง สธ. ซึ่งเชื่อว่าเพียงพอที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ต้องมาเริ่มต้นเก็บใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่ล่าช้า แต่ยังสร้างภาระงานซ้ำซ้อนที่ไม่จำเป็น หรือใช้ช่องทางว่าจ้างสำนักงานสถิติเพื่อเก็บข้อมูลวิจัยเพิ่มเติม เหล่านี้มีช่องทางอยู่

นอกจากนี้ นายชัยณรงค์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงปัญหาการบันทึกข้อมูลเพื่อแลกเงินของเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ว่า ควรให้มีการโอนงบประมาณการส่งเสริมป้องกันโรค รพ.สต. ไว้ที่ระดับอำเภอ โดยบริหารจัดการในระดับพื้นที่ ดึงประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค พร้อมกันนี้ให้กระจายงบประมาณไปยัง รพ.สต.ตามโปรแกรม ที่จะช่วยลดภาระการคีย์ข้อมูลผลงานเพื่อใช้สำหรับเบิกจ่ายเงินได้ ซึ่งข้อเสนอนี้มีความเป็นไปได้ โดยเบื้องต้น ไตรมาส 2 ปี 2558 จะเป็นการจ่ายงบประมาณ รพ.สต.ผ่านโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ก่อน แต่จะให้อำนาจ รพ.สต.กับ รพช.ร่วมกันบริหารจัดการก่อน  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลดหมออนามัยหน้าจอ สธ.ยกเลิกบันทึกข้อมูลไม่จำเป็น