ตัวแทนโรงพยาบาลใต้ตอนล่าง ยื่นหนังสือสปสช.เขต 12 สงขลา ช่วยเหลือด้านการเงินเป็นการด่วน แจงมี รพช. 77 แห่ง ใน 7 จังหวัดใต้ตอนล่าง ประสบภาวะวิกฤตการเงิน หลังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยจำนวนมาก เฉลี่ยรายละ 1,000 บาท แต่ได้รับจัดสรรจากสปสช.รายละ 700-800 บาทเท่านั้น

นสพ.มติชน - เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน มีรายงานข่าวจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 12 จ.สงขลา เปิดเผยว่า สปสช.เขต 12 ได้รับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนโรงพยาบาลจาก 77 แห่ง ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ที่ต้องดูแลประชาชนประมาณ 5 ล้านคน กำลังได้รับความเดือดร้อนจากการจัดสรรเงินที่ไม่เป็นธรรมจาก สปสช. จนส่งผลวิกฤตต่อการเงินในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) จะต้องแบกรับภาระผู้ป่วยเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน โดยเฉพาะผู้ป่วยนอกที่มีอัตราเหมาจ่ายค่าหัว เกณฑ์หักเงินเดือนรายอำเภอ ซึ่งเป็นเงินเดือนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ส่งผลให้สถานพยาบาลเหลือเงินสุทธิในการบริการประชาชนประมาณ 1,000 บาทต่อคน บางโรงพยาบาลจัดสรรได้ 700-800 บาทต่อคนเท่านั้น ไม่เพียงพอกับการให้บริการประชาชน

"โรงพยาบาลภาคใต้ตอนล่างที่ประสบกับวิกฤตการเงินในระดับ 4-7 หรือระดับรุนแรง 21 แห่ง ประกอบด้วย จ.สตูล รพ.ควนกาหลง ท่าแพ รพ.ละงู, จ.สงขลา รพ.นาหม่อม รพ.สะบ้าย้อย รพ.สิงหนคร รพ.กระแสสินธ์ รพ.คลองหอยโข่ง, จ.พัทลุง รพ.เขาชัยสน รพ.ปากพะยูน รพ.ตะโหมด รพ.ศรีบรรพต รพ.ป่าพะยอม รพ.ควนขนุน, จ.ตรัง รพ.สิเกา รพ.ปะเหลียน รพ.นาโยง รพ.รัษฎา, จ.ปัตตานี รพ.โคกโพธิ์ รพ.สายบุรี และ จ.นราธิวาส รพ.สุไหงปาดี"

รายงานเปิดเผยด้วยว่า ตัวแทนโรงพยาบาลได้ยื่นข้อเสนอ 4 ข้อ เพื่อพิจารณาแก้ไข การปรับเปลี่ยนวิธีการและเกณฑ์การจัดสรรเงิน ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบ มีตัวแทนทุกภาคส่วนเข้าร่วม การจัดสรรเงินไปยังเขตบริการ มีตัวแทนหน่วยบริการทุกโรงพยาบาลและภาคประชาชน และประการสุดท้ายขอให้ทบทวนโครงการ "งานแลกเงิน" ที่มากเกินควร และไม่สอดคล้องต่อบริบทและปัญหาในหลายพื้นที่ ให้บูรณาการงานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดความซ้ำซ้อนและการเพิ่มงานที่ไม่จำเป็น

--มติชน ฉบับวันที่ 14 พ.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--