เครือข่ายแรงงานจี้เปลี่ยนโครงสร้าง สปส. เลือกคณะบริหารมืออาชีพ เสนอ คกก.ฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างควรมาจากการแต่งตั้ง ไร้การเมืองเกี่ยวข้อง เปิดให้ผู้ประกันตนเข้าชื่อปลดบอร์ดได้หากพบทุจริต ด้านที่ปรึกษารมว.แรงงานเผยเน้นปฏิรูป 2 ประเด็นหลักเรื่องกองทุนและความโปร่งใส่ รวมทั้งการบริหารการลงทุน เป็นองค์กรเปิด ปชช.ตรวจสอบได้
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดย นางสุนี ไชยรส รองประธาน คปก. ได้เชิญตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และเครือข่ายแรงงาน หารือถึงแนวทางการปฏิรูประบบประกันสังคม เพื่อเตรียมนำข้อเสนอของเครือข่ายแรงงานไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ. ...
นายนพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาแนวทางปฏิรูปกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน กล่าวว่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้คณะทำงานศึกษาแนวทางปฏิรูปกองทุนประกันสังคมฯ ศึกษารายละเอียดโดยมุ่งเน้นใน 2 ประเด็น คือ 1.ให้กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนเป็นกองทุนที่สร้างความพอใจให้ในทุกภาคส่วน ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่รัฐ 2.มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ ทั้งนี้ พล.อ.สุรศักดิ์ยังเน้นในการปฏิรูป 2 ส่วน คือ การบริหารการลงทุนและการบริการความเสี่ยง จะต้องเป็นไปโดยมืออาชีพที่ได้มาตรฐานสากล เป็นองค์กรเปิดที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้บนพื้นฐานของการทำงานอย่างโปร่งใส นอกจากนี้ การคงไว้หรือยุบหน่วยงานใดก็ต้องพิจารณาถึงความจำเป็น ทั้งนี้ ภาคประชาชนมองถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานอย่างแท้จริง จึงต้องหาตัวแทนที่แท้จริงของภาคประชาชน
นางวิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธาน คสรท. กล่าวว่า การบริหารจัดการ สปส.ต้องอาศัยผู้บริหารมืออาชีพ โดยเฉพาะคณะกรรมการทุกชุดที่จะต้องรู้รายละเอียดของการดำเนินงานอย่างชัดเจน ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการตรวจสอบ นอกจากนี้ คณะกรรมการฝ่ายนายจ้างลูกจ้างควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของสมาชิก เนื่องจากที่ผ่านมา วิธีการได้มาของตัวแทนไม่สะท้อนที่มาจากตัวแทนของผู้ประกันตนโดยตรง ทั้งนี้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงาน ในอนาคตก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม คือถูกการเมืองแทรกแซง นอกจากนี้ ในส่วนของการบริหารการลงทุนก็ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลว่าลงทุนในส่วนใดบ้าง รวมทั้งในเรื่องของการรักษาพยาบาลก็ไม่มีการพัฒนา
นายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท. กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯที่อยู่ระหว่างการพิจารณานั้นกำหนดว่าสามารถปลดบอร์ด สปส.ได้แต่ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 เสียง แต่ก็ไม่สะท้อนว่า สามารถดำเนินการได้จริง เนื่องจากใช้เสียงจำนวนมากไป และอาจมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน นอกจากนี้ อยากให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าชื่อกัน เพื่อยื่นปลดตัวแทนของผู้ประกันตนได้หากทำไม่ถูกต้อง ที่สำคัญคือ ที่มาของตัวแทนผู้ประกันตนที่มาจากการเลือกของสหภาพแรงงานไม่ได้มาจากผู้ประกันตนโดยตรง อีกทั้งในเรื่องของการได้สิทธิประโยชน์ ควรจะได้สิทธิทันทีที่เข้าเป็นสมาชิก จึงอยากให้มีการกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อเปลี่ยนกรรมการบอร์ดให้เร็วที่สุด
นายโกวิท สัจจาวิเศษ กรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ...ของกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เรื่องหลักที่เครือข่ายแรงงานต้องการแก้ไข คือ บอร์ด สปส. ซึ่งยอมรับว่าต้องปรับปรุง และบอร์ดต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการสกัดกั้นไม่ให้คนที่หวังผลผระโยชน์เข้ามา นอกจากนี้ การประมูลการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต้องโปร่งใส อีกทั้งต้องกำหนดอายุของบอร์ดประกันสังคมว่าให้สามารถดำรงตำแหน่งได้กี่วาระ เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นได้เข้ามาบริหารงาน
ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ในวาระที่ 2 ซึ่งในขั้นนี้ต้องพิจารณากฎหมายให้เสร็จสิ้นภายใน 45 วัน ทั้งการแปรญัตติ หรือสงวนคำแปรญัตติ โดยกฎหมายฉบับนี้มีหลักการ 9 ข้อ จะสิ้นสุดในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ ล่าสุดมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยื่นคำแปรญัตติเข้ามาแล้ว 2 คน
- 2 views