กระทรวงสาธารณสุข แนะสถานที่ท่องเที่ยวจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและควบคุมดูแลสถานที่ให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันโรค และลดอุบัติภัยต่าง ๆ พร้อมข้อปฏิบัติตนสำหรับนักท่องเที่ยวที่นิยมกางเต็นท์พักแรม ให้ปลอดภัยจากการจุดไฟ ใช้น้ำแม่น้ำ-คลองกรอกใส่ขวด สธ.แนะต้องควบคุมดูแลสถานที่ให้สะอาดถูกสุขลักษณะเพื่อป้องกันโรค
13 พ.ย.57 นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ขณะนี้เข้าสู่ช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ฤดูหนาวโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จึงควรมีการจัดการและควบคุมดูแลสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ รวมถึงเครื่องใช้ อุปกรณ์ เครื่องบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อป้องกันโรคติดต่อ และป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น
จากการศึกษาสถานการณ์ การจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยวของสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อมกรมอนามัย ปี 2551 ในอุทยานแห่งชาติ 12 แห่ง จากทุกภาคของประเทศพบว่า ภาพรวมการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับควรปรับปรุง ตั้งแต่ด้านสุขาภิบาลอาหารปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรีย ร้อยละ 50 การจัดหาน้ำดื่มพบดื่มน้ำบรรจุขวด ร้อยละ 83.33 น้ำใช้มีการใช้น้ำจากแม่น้ำลำคลอง และน้ำตก ร้อยละ 33.3 และยังพบการปนเปื้อนของโคลิฟอร์มแบคทีเรียที่ถังเก็บน้ำและจุดกรองน้ำ สำหรับการจัดการขยะพบว่าร้อยละ 75 ไม่มีการคัดแยกขยะ
ส่วนการจัดการสิ่งปฏิกูลความสะอาดของห้องน้ำ ห้องสุขาตามเกณฑ์มาตรฐานของกรมอนามัย พบไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานถึงร้อยละ 91.7 สภาพโครงสร้างและตัวเรือนส่วนใหญ่มีลักษณะถาวร อยู่ในสภาพดี ใช้การได้ ร้อยละ 91.7 แหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีการจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย มีข้อความกฎระเบียบเตือนภัยในจุดอันตราย ร้อยละ 91.7 มีสถานที่จอดรถเพียงพอ ร้อยละ 58.3 มีระบบจ่ายไฟฟ้าและไฟฟ้าสำรองกรณีฉุกเฉิน ร้อยละ 41.7
นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อไปว่า สุขาและขยะเป็นอีกปัญหาหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่ควรมีการจัดการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากสุขาสาธารณะที่ขาดการดูแลและรักษาความสะอาดที่ดี จะกลายเป็นแหล่งแพร่โรคติดต่อได้ ส่วนขยะมูลฝอยหากไม่มีการจัดการอย่างถูกสุขลักษณะจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์พาหะนำโรค อาทิ สุขาในสถานแหล่งท่องเที่ยว ควรมีไว้บริการอย่างเพียงพอ โดยมีสุขาหญิง 3 ห้องและสุขาชาย 2 ห้องต่อคนไม่เกิน 15 คน และ 1 โถปัสสาวะชาย ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 ขึ้นอยู่กับสถานที่ของแต่ละแห่งว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวมากน้อยเพียงใด ซึ่งความสะอาดและถูกสุขลักษณะเป็นสิ่งสำคัญ จึงต้องมีผู้ดูแลรักษาความสะอาดสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค โดยให้มีบริการสุขาแบบนั่งราบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุ หรือมีปัญหาข้อเข่า และมีสุขาสำหรับผู้พิการ มีทางลาดสำหรับรถนั่ง
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยได้สนับสนุนให้แหล่งท่องเที่ยวทุกแห่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาส้วมสาธารณะให้ได้มาตรฐานส้วมสาธารณะระดับประเทศ (HAS) คือ สะอาด (Health) เพียงพอ (Accessibility) และปลอดภัย (Safety) รวมทั้งการจัดการขยะมูลฝอยควรจัดเตรียมถังขยะพร้อมฝาปิดมิดชิดไว้บริการ เพื่อป้องกันการทิ้งขยะเกลื่อนกลาด และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์พาหะนำโรค
“สำหรับนักท่องเที่ยวที่นิยมการกางเต็นท์ ควรปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัย อาทิ 1) การจุดตะเกียง ก่อไฟ หรือสูบบุหรี่ภายในเต็นท์ อาจทำให้สำลักควัน ถูกไฟครอก หรือได้รับคาร์บอนไดออกไซด์จากควันไฟในปริมาณที่มาก ส่งผลให้ขาดออกซิเจนได้ 2) ภายในเต็นท์ควรเปิดช่องระบายอากาศ ช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก หากต้องการความสว่างควรใช้ไฟฉาย 3) หลีกเลี่ยงการกางเต็นท์ใต้ต้นไม้ที่มีกิ่งแห้งตายหรือพื้นที่ที่ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันกิ่งไม้หักลงมาและอาจมีแมลงสัตว์มีพิษชุกชุม 4) ควรกางเต็นท์เรียงกันอย่างเป็นระเบียบ หากมีเหตุฉุกเฉินจะได้สะดวกในการหนีได้ทัน 5) ไม่ทิ้งเศษอาหารไว้ใกล้ ๆ ที่นอนหรือบนพื้น เนื่องจากอาจมีสัตว์ที่ออกหากินเวลากลางคืนจะเข้ามาใกล้หรือมดแมลงมารบกวน”
- 57 views