เขตบริการสุขภาพที่ 8 ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม เจ๋ง จัดระบบการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง (Long term care) ครอบคลุมทุกโรงพยาบาลทั้ง 7 จังหวัด เพื่อดูแลเชิงรุกผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง และผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative care) ในปีที่ผ่านมา ผู้ป่วย 3,766 ราย ได้รับการค้นหาในชุมชน และผู้ป่วยอีก 2,840 ราย หรือร้อยละ 75 ได้รับบริการเชิงรุกโดยทีมสหวิชาชีพถึงบ้าน
นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ
ด้วยนโยบายเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ผ่านมา เขตบริการสุขภาพที่ 8 โดย ดร.นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ สาธารณสุขนิเทศ ได้ร่วมกับทีมงานพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง (Long term care) หลังออกจากโรงพยาบาล โดยทีมสหวิชาชีพ ครอบคลุมผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง และผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยจัดตั้งศูนย์ดูแลต่อเนื่องคุณภาพ (Continuity of care) ทุกโรงพยาบาลทั้ง 7 จังหวัด มีผู้รับผิดชอบชัดเจน มีศูนย์สำรองอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ อาทิ เตียงผู้ป่วย เสาน้ำเกลือ ถังออกซิเจน ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ เพื่อออกให้บริการเชิงรุกที่บ้าน และยังพัฒนาผู้ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ในระดับตำบล (Long term care manager) ครอบคลุมทุกแห่ง รวมทั้งครู ก (Care giver) อำเภอละ 1 คน เป็นอย่างน้อย เพื่อพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ต่อไป
นอกจากนั้น ยังได้พัฒนาตำบลต้นแบบสำหรับการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องจังหวัดละ 1 ตำบล และเตรียมพร้อมขยายครอบคลุมทุกตำบลในปี 2558 ทั้งนี้ ยังพัฒนาหลักสูตรพยาบาลเฉพาะทางด้านการดูแลต่อเนื่อง 4 เดือน โดยวิทยาลัยพยาบาลพระบรมราชชนนี อุดรธานี เพื่อผลิตบุคลากรใช้เองภายในเขต คาดว่าจะเริ่มเปิดอบรมได้ในปี 2558 เป็นต้นไป ทั้งยังมีการพัฒนาระบบสารสนเทศ (Long term care link) และจัดทำคู่มือการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องแจกจ่ายให้กับทุกหน่วยบริการทั้ง 7 จังหวัดอีกด้วย
ด้วยนโยบายเขตสุขภาพ ในปี 2557 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ได้รับการดูแลเชิงรุกเพิ่มขึ้น 3,766 คน หรือประมาณร้อยละ 40 ของผู้ป่วยที่มีความต้องการ โดยในปี 2558 เขตบริการสุขภาพที่ 8 จะขยายให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 หรือประมาณ 7,000 คนในพื้นที่ และจะเพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วยให้ดีกว่าเดิม โดยทีมสหวิชาชีพร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลผู้ป่วยต่อไป
ในอนาคตเมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ระบบการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง (Long term care) นี้ จะเป็นระบบที่สำคัญที่สุดระบบหนึ่ง ที่จะลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งผู้ป่วยและโรงพยาบาล ทั้งนี้ มีเพียง 5 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ที่ดำเนินการเรื่องนี้อยู่ในขณะนี้ คาดว่าต้นแบบการดำเนินงานเรื่องการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องของเขตบริการสุขภาพที่ 8 จะเป็นแบบอย่างให้กับเขตอื่นๆ ต่อไปทั้งประเทศ และถือเป็นความสำเร็จอีกหนึ่งชิ้นที่เกิดขึ้นจากนโยบายเขตสุขภาพ ของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2557 ที่ผ่านมา
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 9 พฤศจิกายน 2557
- 10 views