แพทย์โรงพยาบาลเด็กแนะติดตามการเจริญเติบโตของเด็กอย่างต่อเนื่อง ช่วยวินิจฉัยภาวะตัวเตี้ยได้เร็วขึ้น
สืบเนื่องจากกรณีข่าวน้องส้มโอ วัย 26 ปี ซึ่งมีส่วนสูงเพียง 120 เซนติเมตรและมีหน้าตาเหมือนเด็ก ซึ่งได้รับผลกระทบทางจิตใจ สังคม และการประกอบอาชีพ พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ระบุว่า อาจมีสาเหตุมาจากการขาดฮอร์โมน หรือโรคทางพันธุกรรม หากได้รับการติดตามการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก็จะพบความผิดปกติและหาทางแก้ไข้ได้เร็วขึ้น
พญ.ช่อแก้ว คงการค้า กุมารแพทย์แพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กล่าวว่า “ภาวะตัวเตี้ย ไม่ใช่ชื่อโรค แต่เป็นภาวะที่ต้องหาสาเหตุโดยเฉพาะในเด็ก และไม่ใช่เด็กตัวเตี้ยทุกคนจะเป็นโรค เช่น เด็กบางคนมีคุณพ่อคุณแม่ตัวเล็กลูกก็มีแนวโน้มตัวเล็กด้วย จะเห็นได้ว่าพันธุกรรมเป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดส่วนสูงของเรา ประวัติส่วนสูงของคุณพ่อคุณแม่และคนในครอบครัวที่มีส่วนสูงผิดปกติก็มีความสำคัญเช่นกัน เป็นที่สังเกตว่าประเทศเรามีหลายระบบที่ช่วยติดตามเรื่องการเจริญเติบโตของเด็ก เช่น เมื่อมารับวัคซีน ที่โรงเรียน เมื่อมาพบกุมารแพทย์เมื่อเจ็บป่วย หรือแม้แต่ตัวผู้ปกครองเองก็ตาม แต่ยังมีเด็กหลายๆคนที่มีภาวะตัวเตี้ยที่ชัดเจนแต่ได้รับการวินิจฉัยเมื่อโตแล้ว เครื่องมือที่สำคัญในการติดตามการเจริญเติบโตของเด็ก คือ การวัดส่วนสูงที่ถูกต้องและจุดลงในกราฟการเจริญเติบโตของเด็กคนนั้น หากทำอย่างต่อเนื่องในแต่ละอายุจะสามารถบอกความผิดปกติของการเจริญเติบโตของเด็กได้”
ในกรณีของน้องส้มโอ แพทย์หญิงช่อแก้ว อธิบายว่า “น้องมีภาวะตัวเตี้ย ซึ่งเป็นตั้งแต่ในวัยเด็ก สังเกตเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่อายุ 10 ปี ซึ่งขณะนั้นมีส่วนสูง 120 เซนติเมตร โดยการเจริญเติบโตของเด็กปกติ เมื่ออายุ 4 ปี มีส่วนสูงเฉลี่ยอยู่ที่ตั้งแต่ 100 เซนติเมตร และมีอัตราการเพิ่มขึ้นปีละ 5-7 เซนติเมตร จนเข้าสู่วัยรุ่น เพราะฉะนั้นที่อายุ 10 ปี ควรมีส่วนสูงอย่างน้อย 130 เซนติเมตร ขณะนี้น้องมีอายุ 26 ปี ส่วนสูงอยู่ที่ 120 เซนติเมตร ซึ่งน้อยกว่าที่ควรเป็นในเด็กอายุ 10 ปี “
อนึ่ง สาเหตุของภาวะตัวเตี้ยกรณีของน้องส้มโอจากข้อมูลเบื้องต้นและรูปร่างหน้าตาลักษณะภายนอก อาจเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนการเจริญเติบโต หรืออาจเกิดจากกลุ่มอาการเทอร์เนอร์ ซึ่งมีความจำเป็นในการตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุต่อไป
- 79 views