นสพ.โพสต์ทูเดย์ : นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันต่อบุคลากรด้านสาธารณสุขกว่า 1,000 ชีวิต ที่เข้าร่วมรับฟังนโยบาย เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า จะเดินหน้านโยบาย "เขตสุขภาพ" ต่อไป เพราะผลการดำเนินการอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถกระจายอำนาจให้แต่ละเขตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ในการประชุมชี้แจงการบริหารงบประมาณปี 2558 เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา สธ.ยังได้แจกเสื้อแจ็กเกตสกรีนข้อความว่า "พลังสธ.ขับเคลื่อนเขตสุขภาพ...เพื่อประชาชน" ให้กับผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นผู้บริหาร สธ.ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทุกคนอีกด้วย
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ นพ.ณรงค์ ระบุ กลับถูกย้อนแย้งด้วยข้อมูลจากเวทีเสวนาเรื่อง "งานวิจัยเขตสุขภาพ ปรับชีวิตคนในเขตให้เปลี่ยนได้อย่างไร" จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
ทีมวิจัยของ ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รวบรวมเอกสารกว่า 100 ชิ้น และสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องอีกกว่า 100 คน ในงานวิจัยเพื่อติดตามการดำเนินการจัดทำเขตสุขภาพของ สธ.ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ พบว่า การขับเคลื่อนงานเชิงรุกและระบบสุขภาพอำเภอ หรือ District Health System ยังถือว่าอ่อนมาก ปลัด สธ.มีความขัดแย้งเด่นชัดกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จนทำให้คนในพื้นที่สับสนไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรแน่ ผู้บริหารบางเขตเต้นตามส่วนกลางโดยไม่ให้ความร่วมมือกับ สปสช. ทั้งๆ ที่มีบทพิสูจน์แล้วว่าความร่วมมือจะทำให้เกิดระบบที่ดีกว่า
นอกจากนี้ จากงานวิจัยยังพบว่า ขีดความสามารถในการสร้างระบบสารสนเทศของแต่ละเขตมีความแตกต่างกันมาก ในส่วนการติดตามการสร้างธรรมาภิบาลระบบ พบว่า สธ.ยังไม่มีความชัดเจนในแง่ที่ว่าอำนาจอะไรควรอยู่ที่เขตหรือเก็บไว้ที่ส่วนกลาง
สำหรับภาวะผู้นำของ สธ.ยังมีน้อย เพราะมีความร่วมมือจำกัดอยู่ในวง สธ. และยังไม่เห็นงานที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคม (Social Determinant of Health) ในแผนเขตบริการสุขภาพ
อีกหนึ่งงานวิจัยโดยทีมงานของ นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อประเมินการบริหารจัดการเขตบริการสุขภาพ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล
ทว่า เมื่อประเมินจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่าผู้ปฏิบัติงานยังเห็นว่า การตรวจสอบระบบยังมีช่องว่าง ส่วนเรื่องอิสรภาพด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมนั้น แทบทุกเขตชูประเด็นว่าภาครัฐยังกุมอำนาจใหญ่ ไม่มีเขตไหนเปิดช่องทางให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างมีอิสระ
นอกจากนี้ ยังพบว่า ภาครัฐมีข้อมูลไม่เพียงพอในการเชื่อมโยงการให้บริการรักษาเป็นเครือข่าย
สำหรับโครงสร้างระบบและบทบาทหน้าที่ก็ยังไม่ชัด ไม่มีกฎหมายรองรับ บทบาทของเขตกับหน่วยงานอื่น เช่น สปสช.ยังไม่ชัดเจน นโยบายอาจทำให้ได้ผู้นำเขตที่ไม่ยุติธรรมจนเกิดการจัดสรรที่ไม่เท่าเทียม
รพีสุภา หวังเจริญรุ่ง จากสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง หนึ่งในทีมวิจัยเรื่อง โครงการจัดทำข้อเสนอเขตบริการสุขภาพระยะที่ 1 อธิบายว่า เก็บข้อมูลทั้งในระดับทุติยภูมิ ผู้ปฏิบัติงาน และหน่วยงานในพื้นที่ นำมาวิเคราะห์ด้วย SWOT Analysis และ PDCA Analysis
ทั้งนี้ พบว่า หากชูการทำงานร่วมกันระหว่าง สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำให้ สธ.เองสามารถทำงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามีการทำงานในรูปแบบเขตอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีกลไกที่ชัดเจน ทางทีมวิจัยได้จัดทำข้อเสนอให้มีการแยกบทบาทอย่างชัดเจนของผู้จัดบริการ หรือ Provider และผู้ซื้อบริการ หรือ Purchaser ส่วนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ควรทำหน้าที่เป็นผู้กำกับตรวจสอบ หรือ Regulator เพียงอย่างเดียว
ทั้งหมดอ้างอิงจากผลการศึกษา ทุกอย่างมีงานวิชาการรองรับ
ที่มา : นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 22 ตุลาคม 2557
- 8 views