อย.ร่วมกับ บก.ปคบ. บุกจับแหล่งผลิตและขายเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ย่านรังสิต รามคำแหง และดอนเมือง พบส่วนใหญ่เป็นเครื่องสำอางบำรุงผิว สงสัยผสมสารห้ามใช้ แสดงฉลากไม่ถูกต้อง และไม่มีเลขจดแจ้ง ยึดของกลางทุกแห่ง มูลค่ากว่า 6 แสนบาท แจ้งข้อหา ทั้งจำคุกและปรับ แนะผู้บริโภค เลือกซื้อเลือกใช้เครื่องสำอางที่มีฉลากภาษาไทย และมีการจดแจ้งถูกต้องตามกฎหมายเพื่อจะได้ไม่เสี่ยงต่อผลิตภัณฑ์ที่มีสารห้ามใช้ และสามารถหาต้นตอผู้กระทำผิดได้หากพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบหรืออันตรายต่อร่างกาย
จากนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน) ในการสร้างความเข้มแข็งของระบบการติดตามเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายภายหลังผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด เจ้าหน้าที่ อย.ภายใต้การอำนวยการของ นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะโฆษก อย. ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำทีมโดย พ.ต.อ.สมชาย ทองศรี รักษาราชการแทน ผบก. ปคบ. , พ.ต.อ.ไพฑูรย์คุ้มสระพรหม รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วุฒิชาติ เลื่อนสุคันธ์ ผกก.4 , พ.ต.ท.นิทัศน์ จิตตวิทยานุกูล รอง ผกก. 4 บก.ปคบ., และ พ.ต.ท.นพดล ปิ่นพงศ์พันธ์ สารวัตร กองกำ กับการ 4 บก.ปคบ. ร่วมกันแถลงข่าวว่า
จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมมือกับตำรวจ บก.ปคบ. ในการตรวจจับแหล่งผลิตและขายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่กระทำผิดกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง และได้ออกข่าวเตือนให้สาธารณชนได้รับทราบทุกครั้งที่มีการจับกุม เพื่อกำราบให้ผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย รู้ถึงบทลงโทษที่จะได้รับ หากกระทำความผิด และผู้บริโภคสามารถปกป้องตนเองไม่ซื้อไม่ใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา อย. และตำรวจ บก.ปคบ. นำหมายค้นของศาลจังหวัดธัญบุรี เข้าตรวจสอบ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุญสิริ สกินแคร์” เลขที่ 199/406-407ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี พบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เคยตรวจพบสารห้ามใช้ไฮโดรควิโนน แสดงฉลาก ไม่ถูกต้องแจ้งแหล่งผลิตไม่ตรงความจริง ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่ระบุส่วนผสมไม่ระบุปริมาณ ทางเจ้าหน้าที่ได้ยึดผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นครีมบำรุงผิว ดังตัวอย่างเช่น
- บุญศิริ สกินแคร์ Smooth & Sootting gel
- บุญศิริ สกินแคร์ Miracle 3 in 1
- บุญศิริ สกินแคร์ Brightening caviar
- บุญศิริ สกินแคร์ Anti Acne Gel
- บุญศิริ สกินแคร์ Baby face serum
- DD Cream Princess เป็นต้น
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ยึดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังกล่าวทั้งหมด มูลค่ากว่า 100,000 บาท และส่งผลิตภัณฑ์ตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อหาสารห้ามใช้ต่อไป สำหรับการดำเนินคดี ในเบื้องต้นได้แจ้งข้อหาผู้กระทำผิด ดังนี้
1.ขายเครื่องสำอางปลอม ซึ่งเป็นเครื่องสำอางที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิตและแหล่งผลิตที่มิใช่ความจริงมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.ขายเครื่องสำอางที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ยังได้ไปตรวจจับ “บริษัท คอสมาพรอฟ จำกัด” เลขที่ 42, 44, 46และ “บริษัท ซีเอ็มพีเค จำกัด” เลขที่ 48, 50, 52 ถ.รามคำแหง ต.หัวหมาก อ.บางกะปิ จ.กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น ติดกัน 6 ห้อง โดยบริษัท คอสมาพรอฟ จำกัด ดำเนินการผลิตเครื่องสำอางตั้งแต่ขั้นตอนการผสม จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป และบริษัท ซีเอ็มพีเค จำกัด ดำเนินการแบ่งบรรจุออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
ทั้งนี้ ตรวจพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ไม่มีฉลากภาษาไทยจำนวนมากทางเจ้าหน้าที่ได้ยึดของกลาง มูลค่ากว่า 200,000 บาท และส่งผลิตภัณฑ์ตรวจวิเคราะห์ เพื่อหาสารห้ามใช้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่อไป
ส่วนการดำเนินคดีของบริษัท คอสมาพรอฟ และบริษัท ซีเอ็มพีเค เบื้องต้นแจ้งข้อหา ดังนี้
- ผลิตและขายเครื่องสำอางที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อีกทั้ง เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2557 เจ้าหน้าที่กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง อย. ได้ตรวจสอบร้านจำหน่ายขายส่งเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง และสงสัยว่ามีส่วนผสมของสารห้ามใช้ ณ ตลาดแอร์พอร์ต
ดอนเมือง จำนวน 5 ร้าน ได้แก่ 1. ร้านเยล 2. ร้าน Nong June 3. ร้านโต๊ะครีม 4. ร้านณิษา บิวตี้ช็อป และ
5.ร้านจำหน่ายเครื่องสำอางไม่มีชื่อ (ล็อค A 28) ตัวอย่างเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย เช่น กลูต้าเพียวไวท์ , AuraSpeed White Night Cream , ครีมมุกหน้าขาว , ครีมรักแร้ขาว Anti Dark Underarm , ครีมบำรุงหน้า โสมสกัดเกาหลี , ไวท์เทนนิ่ง ไนท์ ครีม ครีมฟักข้าว หน้าขาวใส , ครีมกวาวเครือ , Q10+Arbutin Whitening Serum ,Retinol+Q10 Day&Night Cream และเซรั่มทองคำ เป็นต้น ของกลางที่ยึดได้มูลค่ากว่า 300,000 บาทและนำผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสครากรแพทย์ เบื้องต้นแจ้งข้อหา ดังนี้
1. ขายเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารห้ามใช้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ขายเครื่องสำอางไม่มีฉลากภาษาไทย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ภก.ประพนธ์ รองเลขาธิการฯ อย. และโฆษก อย. กล่าวต่อไปว่า อย.ขอเตือนประชาชนหากต้องซื้อเครื่องสำอางควรซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน มีฉลากภาษาไทยที่มีข้อความบังคับครบถ้วน ได้แก่ ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ เลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลัก ส่วนประกอบทั้งหมด วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิตปริมาณสุทธิ และ คำเตือน (ถ้ามี) หากเป็นเครื่องสำอางลักลอบนำเข้า ไม่แสดงฉลากภาษาไทย อาจได้รับอันตรายจากการใช้ รวมทั้งไม่สามารถหาผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายมารับผิดชอบหากเกิดความผิดปกติหรือเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย
นอกจากนี้ หากพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางใด ๆ โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ทำให้หน้าใส ขาว ไร้สิว กระ ฝ้าทันตาเห็น ขออย่าได้หลงเชื่อและซื้อมาใช้เด็ดขาด เพราะอาจได้รับอันตรายจากสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง และขอให้ผู้บริโภคแจ้งเบาะแสผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่สายด่วน อย.1556 หรือสายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดที่พบปัญหา เพื่อจะได้ตรวจสอบและจับกุมผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด
- 99 views