กระทรวงสาธารณสุขจับมือคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมไวรัสวิทยา(ประเทศไทย)และสมาคมชีวนิรภัย(ประเทศไทย) จัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านไวรัสวิทยา แลกเปลี่ยนเผยแพร่ความรู้ทันสมัย เกี่ยวกับเชื้อไวรัส ตัวการก่อโรคติดต่อใหม่ๆไร้พรมแดน เช่นอีโบลา ไข้หวัดนก โรคซาร์ส ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ รวมทั้งเผยแพร่เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทันสมัยในการตรวจวินิจฉัย รักษา สร้างเครือข่ายด้านสุขภาพระหว่างประเทศ และพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางวิชาการและงานวิจัย และเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมวิชาการนานาชาติทางการแพทย์
วันนี้ (16 ตุลาคม 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี น.ต.นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมด้วยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษาสมาคมไวรัสวิทยา (ประเทศไทย) ร่วมกันแถลงข่าวว่า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ด้านไวรัสวิทยา (International Congress on Medical Virology 2014 : ICMV 2014) ระหว่างวันที่ 5 – 7 พฤศจิกายน 2557 ที่โรงแรมพูลแมน กรุงเทพมหานคร ซึ่งในปีนี้จะเน้นประเด็น ไวรัสไร้พรหมแดน( Viral diseases without borders) เนื่องจากเชื้อไวรัส กำลังเป็นภัยคุกคามสุขภาพที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 ทวีความรุนแรงมากขึ้น มีผลกระทบวงกว้างทั้งเศรษฐกิจ ความมั่นคงทั่วโลก การจัดประชุมครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมไวรัสวิทยา(ประเทศไทย)และสมาคมชีวนิรภัย(ประเทศไทย) นอกจากจะเป็นการศักยภาพความเป็นเลิศทางด้านวิชาการของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นแสดงถึงการเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพ รองรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย (Country Strategy) พ.ศ.2557-2561 ซึ่งมี 4 ด้าน คือ1.ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) 2.ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) 3.ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) และ4.ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) กระตุ้นการท่องเที่ยวสร้างเศรษฐกิจรายได้เข้าประเทศ คาดว่าจะมีแพทย์ระดับเชี่ยวชาญ นักวิชาการด้านไวรัสจากทั่วโลกเข้าประชุมประมาณ 500 คน
ในปี พ.ศ.2556 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมนานาชาติต่างๆ ทั้งสิ้น 5,737 งาน ในจำนวนนี้เป็นการประชุมด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 483 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 8 ของการจัดการประชุม และไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญ ที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจในการจัดงานประชุมเป็นลำดับต้นๆ ของโลก โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ พบว่า อุตสาหกรรมการประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ หรือ “ไมซ์” มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ.2558 อุตสาหกรรมไมซ์ตามประมาณการเป้าหมายใหม่นั้น จะมีผู้จำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ 1,036,300 คน นำรายได้สู่ประเทศกว่า 106,780 ล้านบาท ซึ่งการจัดงานประชุมนานาชาตินั้นจะนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยใช้ศักยภาพและขีดความสามารถที่มีอยู่ของทรัพยากรทางด้านการแพทย์ จนนำไปสู่การพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทย
ด้านศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ กล่าวว่า ปัจจุบันโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นโรคติดต่อไร้พรมแดน แพร่ระบาดได้รวดเร็วมาก จนได้รับการยกระดับให้เป็นปัญหาของโลก เช่น โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โรคไข้หวัดนก โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) โรคเอดส์ และโรคมือเท้าปาก และที่กำลังเป็นปัญหาขณะนี้คือ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบล่าที่ยังไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักวิจัย และผู้เกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วน ต่างมีความตื่นตัวในการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาวิทยาการด้านการวินิจฉัย การป้องกัน และรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ได้รับการยอมรับในด้านวิชาการ และวิทยาการในด้านไวรัสวิทยา ในการประชุมครั้งนี้มีเวทีที่เป็นประเด็นเด่นหลายเรื่อง เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ การค้นพบไวรัส ความก้าวหน้าวัคซีนใหม่ ในการป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคมือเท้าปาก โรคเอดส์ เป็นต้น และมีเวทีทั่วไปเช่นเรื่องการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส การตรวจเชื้อไวรัส การป้องกันและควบคุมโรค
- 5 views