กระทรวงสาธารณสุข แนะคนไทยหลีกเลี่ยงกินไข่ดิบ เหตุเสี่ยงปนเปื้อนจุลินทรีย์ ชวนกินไข่ในปริมาณที่เหมาะสมควบคู่อาหารอื่นครบ 5หมู่ เพื่อคุณค่าทางโภชนาการและสารอาหารที่ครบถ้วน พร้อมหนุนพ่อแม่ปรุงเมนูไข่ใส่ผักจูงใจเด็กกินไข่และได้รับใยอาหาร
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายพัฒนา ไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือ Egg Board ได้กำหนดให้วันศุกร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันไข่โลก ซึ่งในปีนี้ ตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม เพื่อเป็นการส่งเสริมการบริโภคไข่ เนื่องจากไข่เป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพดี ราคาถูก หาได้ง่าย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยไข่ไก่ 1 ฟอง ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี มีโปรตีน 7 กรัม มีกรดอะมิโน ที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน เป็นแหล่งของแร่ธาตุและวิตามินที่สำคัญ เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี1 บี2 บี6 วิตามินดี วิตามินอี โฟเลต เลซิธิน ลูทีน และซีแซนทีน แต่ไม่ควรกินไข่ดิบ เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และไข่ขาวที่ไม่สุกจะขัดขวางการดูดซึมไบโอติน ทำให้ย่อยยากจึงได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อไปว่า ไข่เป็นอาหารบำรุงร่างกายสำหรับทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กทารกอายุ 6 เดือนเต็ม ให้กินไข่แดงต้มสุกในปริมาณครึ่งฟองผสมกับข้าวบด โดยในครั้งแรกให้ปริมาณน้อยๆ และค่อยๆ เพิ่มขึ้น ส่วนเด็กอายุตั้งแต่ 7 เดือน จนถึงวัยเรียนสามารถกินไข่ได้วันละ 1 ฟอง ส่วนผู้ใหญ่ที่มีภาวะโภชนาการปกติควรกินไข่ 3-5 ฟองต่อสัปดาห์ และหากเป็นกลุ่มที่มีโคเลสเตอรอลสูง อาจกินได้สัปดาห์ละ 1-2 ฟอง หรือกินแต่ไข่ขาว หรือตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งการป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับคอเลสเตอรอลสูงเกินไปไม่ได้เกิดจากการลดหรืองดกินไข่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้ถูกหลักโภชนาการด้วยการลด หวาน มัน เค็ม เพิ่มการกินผักและผลไม้รสไม่หวานจัด หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และตรวจร่างกายเป็นประจำเพื่อช่วยควบคุมและป้องกันปริมาณไขมันเกินในเลือด
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรณีที่พ่อแม่ต้องการให้เด็กกินไข่ ทุกวันและไม่เบื่อ ควรใช้วิธีการประกอบอาหารที่ใส่ผักลงไปในไข่ จะเป็นการจูงใจให้เด็กกินผักอีกทางหนึ่งด้วย เช่น ไข่เจียวหรือไข่ตุ๋นใส่ผักสับละเอียด จะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกายแก่เด็ก สำหรับกลุ่มวัยอื่นควรปรุงประกอบในรูปแบบของ ไข่ต้ม ไข่ตุ๋น ไข่ดาวน้ำ ไข่พะโล้ เพราะมีปริมาณไขมันน้อยกว่าไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ลูกเขย ซึ่งการปรุงอาหารควรใช้น้ำมันแต่น้อยหรืออาจกินเป็นสลัดไข่ต้ม ยำไข่ต้ม เพราะจะทำให้ได้สารจากไข่ และได้ ไฟเบอร์และวิตามินซีจากผักและผลไม้ ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคือขนมปังไข่ดาวใส่เบคอนหรือไส้กรอก เพราจะได้รับปริมาณไขมันสูงมากจากเบคอนน้ำมันที่ใช้ทอด และเนยที่ทาขนมปัง สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องฟันที่ไม่สามารถทานอาหารโปรตีนอื่นได้ แนะนำให้ให้กินไข่เป็นแหล่งของโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ ในผู้สูงอายุถ้ามีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูงในบางมื้ออาจหลีกเลี่ยงการกินไข่แดง
"ทั้งนี้ ประชาชนควรกินไข่ควบคู่กับอาหารหลากหลายชนิดในแต่ละมื้อ โดยให้มีอาหารประเภท แป้ง ธัญพืช เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยกากใยอาหารที่ได้รับจากการกินผักและผลไม้จะช่วยดูดซับไขมันบางส่วนที่อยู่ในอาหารออกจากร่างกาย ทำให้ไม่เกิดการสะสมที่อาจส่งผลทำให้เกิดโรคต่างๆ อาทิ เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา” อธิบดีกรมอนามัย
- 52 views