“หมอรัชตะ” ชื่นชม “สายด่วน สปสช. 1330” รุกงานคุ้มครองสิทธิ แก้ไขปัญหาร้องเรียน ช่วยประชาชนเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล ปี 56 มีผู้ใช้บริการสายด่วนถึง 627,216 สาย เป็นการร้องเรียน 4,420 สาย สปสช.แก้ปัญหาภายใน 30 วันได้ถึงร้อยละ 97 ชี้เป็นกลไกสำคัญพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในระหว่างการตรวจเยี่ยมการดำเนินงานสายด่วน สปสช. 1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นบริการให้ข้อมูลและตอบปัญหาเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่า จากที่รัฐบาลมีความตั้งใจทำให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีเป้าหมายสำคัญคือการให้คนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพได้ตามความจำเป็น ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ขณะเดียวกัน สปสช. มีหน้าที่ตามมาตรา 26 (8) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 สนับสนุนให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิ รับรู้สิทธิ เข้าถึงสิทธิ และได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายและตามมาตรา 41 ในการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ และมาตรา 18(4) ในการช่วยเหลือกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขด้วย
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า จากการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอาจสร้างผลกระทบได้ทั้งในแง่ความพึงพอใจและความขัดแย้ง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีช่องทางสื่อสารทำความเข้าใจระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ ด้วยเหตุนี้ สปสช.จึงจัดให้มี “สายด่วน สปสช.1330”ขึ้น เพื่อดำเนินงานให้ข้อมูลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาล ให้คำปรึกษาแนะนำ การชี้แจงสิทธิประโยชน์ การับข้อเสนอแนะ และการการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ที่เป็นการคุ้มครองสิทธิผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประสานให้การช่วยเหลือเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า งานด้านการคุ้มครองสิทธินอกจากเป็นการคุ้มครองและดูแลประชาชนเพื่อให้เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วหน้าแล้ว ยังทำให้เกิดการเรียนรู้ปัญหาและนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการพัฒนาระบบบริการเพื่อให้เกิดคุณภาพยิ่งขึ้น เช่น กรณีปัญหาด้านสูติกรรมหรือจากการคลอดที่ได้มีการนำข้อมูลสะท้อนไปยังสภาวิชาชีพ และราชวิทยาลัยแพทย์จนนำไปสู่การจัดทำมาตรฐานการจัดการความเสี่ยง เป็นต้น เรียกว่าเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาคุณภาพระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ปัจจุบัน สปสช.ได้ให้บริการสายด่วนจำนวน 60 คู่สาย บริการ 24 ชั่วโมง มีสายเข้าวันละ 1,200-1,500 สาย จากข้อมูลดำเนินงานในช่วงปี 2556 (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2555 – 30 กันยายน 2556) มีผู้ใช้บริการ 627,216 สาย ส่วนใหญ่เป็นสอบถามข้อมูล 612,510 สาย หรือร้อยละ 97.66 ในจำนวนนี้เป็นเรื่องร้องเรียน ม.57, 59 จำนวน 4,420 สาย ร้องทุกข์ 6,633 สาย และเรื่องการประสานส่งต่อ 3,653 สาย ทั้งนี้ในส่วนเรื่องร้องเรียน สปสช.สามารถแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จภายใน 30 วันทำการได้ถึงร้อยละ 97 สะท้อนให้เห็นว่า สปสช.ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิอย่างมากและได้ดำเนินการต่อเนื่องในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา
เลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า นอกจากช่องทาง 1330 แล้ว สปสช.ยังได้จัดตั้งเครือข่ายทำงานในทุกระดับ เพื่อรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองสิทธิเพื่อให้เกิดการดูแลประชาชนอย่างทั่ววถึง อาทิ ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ ทั้งที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน หน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50 (5) ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน โดยเป็นการดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการคุ้มครอง อาทิ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50 (5) ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมไปถึงเป็นสื่อกลางในการลดความขัดแย้งกรณีเกิดปัญหาร้องเรียนขึ้น จึงนับเป็นกระบวนการที่ต้องสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อไป
- 2 views