แชร์ว่อนเน็ต ข้อความปลัดสธ.วันสรุปผลตรวจราชการสธ. 26 ก.ย. กระตุ้นขรก.ต้องเข้มแข็ง เป็นผู้นำต้องกล้า อย่าอยู่เอาตัวรอดไปวันๆ เดินหน้า เขตสุขภาพ การเงินการคลัง งบ IP ที่เขต OP ที่จังหวัด PP ที่อำเภอหรือไม่ เน้นแต่งตั้งโยกย้ายต้องมีธรรมาภิบาล ก่อนทิ้งท้ายอยากเห็นคนสธ.ยืนด้วยขาตนเอง ไม่ขอเงินใคร ปิดท้ายด้วยวาทะอ.ป๋วย ถ้าไม่พะวงเก้าอี้ จะตัดสินใจได้ถูกต้อง ขณะที่สถานการณ์ในสธ. หลังชมรมแพทย์ชนบท และประชาคมสธ.เข้าพบ รมต.เสนอแนวทางปฏิรูปคนละทาง แถมประชาคมเน้นต้องโยกย้ายเป็นธรรม หลังมีข่าวดันรองอธิบดีเป็นรองปลัด ตรวจสอบพบเป็นผู้ตรวจเขต 12 ที่เพิ่งถูกดันจากรองอธิบดีเป็นผู้ตรวจเมื่อก.ย.56 ถูกมองอาวุโสไม่พอ ด้านแพทย์ชนบทเสนอซ้ำล้มเขตสุขภาพ
28 ก.ย. 57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย.เป็นต้น ได้มีการแชร์ข้อความในโลก social media ทั้งใน facebook และ LINE ในแวดวงสาธารณสุข ซึ่งมี 2 ข้อความ แต่ทั้งหมดระบุว่า เป็นคำกล่าวของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่กล่าวในงานการประชุมสรุปผลการตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2557 และการบูรณาการการบริหารจัดการงบประมาณและยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2558 เมื่อวันที่ 26 ก.ย.57 ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
โดยมีรายละเอียดดังนี้
ข้อความที่ 1
ท่านปลัด speech ที่เซ็นทรา เช้านี้ “นายกฯพูดว่าปัญหาประเทศไทยยากและซับซ้อน มีปัญหาในระบบซึ่งหายากที่จะมีคนมาแก้ปัญหา จึงมักมีแต่ทำ event ปทท.(ประเทศไทย)มีคนพูดเยอะแต่ไม่มีคนทำ กก.คสช.อยากเห็นมีการพูดคุยกันด้วยความจริง พูดกันให้รู้เรื่อง
1.ตอนนี้เป็นช่วงเวลาพิเศษ ขรก.มีหน้าที่ต้องทำให้ระบบราชการเข้มแข็ง กระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าได้ด้วยขรก.ประจำ
2.ต้องให้ระบบเข้มแข็ง ยังไม่สามารถปฏิรูปอะไรได้มาก ยังมีความจำกัดในการหาคนสืบทอดเป็นผู้นำแต่ละระดับ จึงต้องสร้างความแข็งแรงของระบบ
3.ผู้นำต้องกล้าที่จะนำไม่ใช่เอาตัวรอดอยู่ไปวันๆ ให้ปลอดภัย ไม่ได้ทำอะไรที่ควรจะทำก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม
4.ต้องวางแผนไว้ว่าเมื่อจะเป็นผู้นำแต่ละตำแหน่งจะต้องทำอะไร ทั้งคนและระบบ คนในพื้นที่รู้ปัญหาอยู่แล้ว
- คิดหรือยังว่าจะทำอะไรหรือไม่
- การเอาเงินมาแล้วจะจัดบริการ หรือ vs ทางตรงข้ามคืดว่าจะจัดบริการอย่างไรแล้วคอยดูว่าต้องใช้เงินอะไร
****เน้น!!!!!นโยบายท่านปลัด อีก 1 ปี สธ.ต้องทำคือ****
1.เขตสุขภาพ : ต้องนำนโยบายรัฐบาลข้อ 5.2 มีกลไกการจัดการระดับเขต เพื่อไม่ให้กระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง มีการบริหารจัดการร่วมเพื่อสุขภาพของประชาชน
2.กลไกการเงินการคลัง : งบ IP ที่เขต OP ที่จังหวัด PP ที่อำเภอ
3.ธรรมาภิบาล : การแต่งตั้งโยกย้าย กำหนดเกณฑ์พิจารณาให้ชัด การสื่อสารกันและการปรองดอง ต้องมีความจริงใจในการหาทางออกให้กับประเทศ ประชาคมสธ.คือทุกวิชาชีพต้องออกมายืนร่วมกัน การบูรณาการงานของส่วนกลาง คือการคิดใหม่ให้เข้าใจภูมิภาค ไม่ใช่การประสานเอาโครงการมารวมว่าจะทำอะไร
ตบท้ายด้วย 1 slide “คนเราถ้าไม่พะวงรักษาเก้าอี้มักจะตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ขอบคุณในความห่วงใย”
ข้อความที่ 2
"มันถึงเวลา...ที่เราต้องเอาความจริงมาพูดกัน" ว่า.. จะเดินต่อไปอย่างไรดี ? ปัญหา...ทุกคนรับรู้และเราก็รู้แก่ใจกันดี.... และต้องถามต่อว่า.. ท่าน(ผู้บริหาร) จะอยู่แบบเอาตัวรอดไปวันๆ อย่างนี้หรือ?
ปลัดสธ. ยังเน้นย้ำตั้งต้นด้วยนโยบายหลัก 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่
1. กลไกเขตสุขภาพ : กระจายอำนาจการบริหารจัดการสธ. โดยเฉพาะ service plan ผ่านกลไกเขตสุขภาพ
2. เรื่องการเงินการคลัง: ที่ผ่านมาเราใช้การเงินการคลังนำการบริการ ใช้เงินเป็นใหญ่ เงินได้สร้างความแตกแยกมามากมาย ต่อไปเราควรกลับมาคิดกันใหม่ว่าควรจะจัดการบริการอย่างไร ? มีแผนบริการเป็นตัวตั้งแล้วค่อยใช้เงินมาสนับสนุนและให้แนวคิดการจัดสรรเงิน/กองทุนที่เป็นธรรมว่า เราจะใช้ IP ที่เขต, OPที่จังหวัด,PP ที่อำเภอ หรือไม่อย่างไร
3. เรื่องธรรมภิบาล: โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายในระดับสูง ขณะนี้กำลังก้าวเข้าสู่ระบบมากขึ้นเรื่อยๆ
งานส่วนกลางจะบูรณาการร่วมกัน ไม่ใช่เอามาประสานงานกัน แต่ต้องคิดใหม่ร่วมกัน โดยไม่สร้างภาระให้กับพื้นที่
ทั้งนี้ ท่านต้องถามใจตัวเองว่า อยากทำหรือเปล่า หรือจะอยู่กันไปอย่างนี้... ถ้าต้องการเดินหน้าก็ต้องแปลง3-4 ข้อที่ว่า ออกมาเป็นแผนปฏิบัติการ...
ไม่อยากฟังคำพูดที่ว่า" ปีนี้เจรจา ปีหน้าปลัดเกษียณก็เหมือนเดิม.." มันแสดงถึงความอ่อนแอ.. ทำงานไปวันๆ...
ท่านย้ำว่า "อยากเห็นคนสาธารณสุข ยืนด้วยขาตัวเอง ไม่ขอเงินใคร เป็นผู้นำที่กล้าหาญอย่างแท้จริง ไม่เห็นแก่เงิน.
วันหนึ่ง... เราย้อนกลับมาดู จะรู้ว่า...เราได้ทำอะไรให้กับกระทรวงสาธารณสุข...?....
เรียกศักดิ์ศรีตัวเองกลับมา...ไม่ใช่เพื่อมาแย่งอำนาจกัน"
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ประชุมสรุปผลการตรวจราชการสธ.ปี 2557 ณ รร.เซนทราศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ 26 ก.ย.57”
ทั้งนี้มีรายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เครือข่ายสหวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน ที่นำโดย ชมรมแพทย์ชนบท โดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมฯ ได้เข้าพบ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. และนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช. เพื่อเสนอข้อเสนอการปฏิรุประบบสาธารณสุข และต่อมา ประชาคมสาธารณสุข นำโดย พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา ประธานชมรมนพ.สสจ. ก็ได้เข้าพบ รมว.สธ. และรมช.สธ. เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอข้อเสนอการปฏิรูประบบสาธารณสุขเช่นเดียว ซึ่งสำนักข่าว Health Focus จะนำเสนอข้อเสนอจากทั้ง 2 ฝ่ายในคอลัมน์หมัดต่อหมัดเร็วๆนี้
ขณะเดียวกัน ในช่วงสัปดาห์ก่อนที่ประชาคมสธ.จะเข้าพบรัฐมนตรีสธ.นั้น ได้มีการออกแถลงการณ์ขอให้มีการแต่งตั้งโยกย้ายตามหลักธรรมาภิบาล โดยมีการรายงานข่าวว่า ทีมรมต.จะดันรองอธิบดีขึ้นเป็นรองปลัด ซึ่งมีหลายฝ่ายเห็นว่าเป็นการโยกย้ายที่ข้ามรุ่น เนื่องจากต้องเป็นผู้ตรวจก่อน จึงจะมาเป็นรองปลัดได้ โดยกยตัวอย่างเปรียบเทียบ สมัยที่นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ยังเป็นรองอธิบดี แต่ได้รับการแต่งตั้งให้มาเป็นรองปลัด แต่เนื่องจากเห็นว่าเป็นการย้ายที่ผิดธรรมเนียม นพ.ณรงค์จึงขอไปเป็นผู้ตรวจราชการก่อน
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระดับสูงรายหนึ่งระบุว่า บุคคลที่จะถูกโยกย้ายมาเป็นรองปลัดนั้น คือ นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ ผู้ตรวจราชการเขต 12 ซึ่งก่อนหน้านั้น เป็นรองอธิบดีกรมอนามัย ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจเขต 12 เมื่อก.ย.56 ซึ่งอาจจะถูกมองว่ายังมีอาวุโสไม่ถึง แต่ไม่ได้เป็นการย้ายข้ามรุ่นแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นระดับ 10 เท่ากัน ระหว่างผู้ตรวจและรองปลัด
นอกจากนั้น ประเด็นเรื่องเขตสุขภาพ ก็เป็นประเด็นใหญ่ที่มีความเห็นต่างอย่างมาก เมื่อประชาคมสธ.เห็นด้วยกับการปฏิรูปด้วยเขตสุขภาพ ขณะที่ชมรมแพทย์ชนบท โดยนพ.เกรียงศักดิ์ เสนอล้มเขตสุขภาพ จึงต้องจับตาว่าศ.นพ.รัชตะ และนพ.สมศักดิ์ จะรับมืออย่างไรกับปัญหาความขัดแย้งรอบล่าสุดนี้
- 7 views