สธ.กำหนดภารกิจกลุ่มงานประกันสุขภาพในสสจ.ใหม่ หลังบอร์ดสปสช.มีมติยกเลิกสสจ.เป็นสปสช.สาขาจังหวัด ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ มุ่งเดินหน้าพัฒนายุทธศาสตร์ประกันสุขภาพของจังหวัดจากทุกสิทธิประกันสุขภาพ รวมถึงยุทธศาสตร์การเงินการคลัง ก่อนย้ำหากจะมีการดำเนินการอื่นใดระหว่างสปสช.และหน่วยงานในสังกัดสป.สธ. ต้องให้สปสช.ทำความตกลงกับสป.สธ.เพื่อกำหนดแนวทางให้ชัดเจนก่อน แต่ยังตอบรับภารกิจทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะอนุกรรมการมาตรา 41 ระดับจังหวัด หลังสปสช.ทำหนังสือสอบถาม
27 ก.ย. 57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ลงนามในหนังสือเลขที่ สธ 0209.07/ว519 ลงวันที่ 25 กันยายน 2557 เรื่องแจ้งบทบาทภารกิจกลุ่มงานประกันสุขภาพภายหลังยกเลิกให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) เป็นสปสช.สาขาจังหวัด โดยระบุว่า ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วันที่ 21 พฤษภาคม 2557 ยกเลิกให้สสจ.ทำหน้าที่สาขาจังหวัดของสปสช. ซึ่งจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 นั้น สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) โดยกลุ่มประกันสุขภาพ จึงได้จัดประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมของหน่วยงานแต่ละระดับในการปรับบทบาทภารกิจด้านการเงินการคลังในระบบประกันสุขภาพเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 2 ครั้ง ในการนี้สป.สธ. จึงขอแจ้งบทบาทภารกิจกลุ่มงานประกันสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในระยะเปลี่ยนผ่าน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 และขอให้ถือปฏิบัติตามรายละเอียดดังกล่าว
นอกจากนั้น ยังระบุว่า การดำเนินการอื่นใดตามแนวทางของสปสช.ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยบริการสป.สธ. ต้องให้สปสช.ทำความตกลงกับสป.สธ.เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติก่อน
สำหรับบทบาทภารกิจของกลุ่มงานด้านประกันสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป มีดังนี้
1.งานด้านประกันสุขภาพ
1.1 พัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ระบบประกันสุขภาพของจังหวัดจากทุกสิทธิ ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าว กองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ กองทุนพ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ กองทุนรักษาพยาบาลของพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและครอบครัว
1.2 การวางแผน จัดระบบ กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านประกันสุขภาพของหน่วยบริการในจังหวัด
1.3 กำกับติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานด้านประกันสุขภาพของหน่วยบริการในสังกัดอื่น
1.4 สร้างและพัฒนาภาคีเครือข่ายประกันสุขภาพทุกระดับ
1.5 งานคุ้มครองสิทธิผู้รับบริการด้านหลักปนะกันสุขภาพในทุกสิทธิ
2.ด้านการเงินการคลัง
2.1 ศึกษา วิเคราะห์ เพื่อจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาด้านการเงินการคลังของหน่วยบริการและหน่วยบริหารในจังหวัด ให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศและเขตสุขภาพ
2.2 การวางแผน จัดระบบ กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านการเงินการคลังของหน่วยบริการและหน่วยบริหารในจังหวัด
2.3 ประสานการทำงาน กำกับติดตาม ประเมินผลทั้งการดำเนินงานและผลกระทบด้านการเงินการคลังของหน่วยบริการและหน่วยบริหารในจังหวัด
2.4 จัดทำและให้บริการข้อมูลข่าวสารสารสนเทศเพื่อการบริหารด้านการเงินการคลังและเศรษฐกิจสุขภาพของจังหวัด
3.งานด้านบัญชีสุขภาพ
3.1 สนับสนุนการพัฒนาและใช้ข้อมูลทางบัญชีและทางการเงินของหน่วยบริการและหน่วยบริหารในจังหวัดได้ถูกต้อง มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ
3.2 จัดทำฐานข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ด้านบัญชี ด้านการเงิน ข้อมูลบริการ และต้นทุนบริการของหน่วยบริการและหน่วยบริหารในจังหวัด รวมทั้งออกรายงานสถานะทางการเงิน ข้อมูลบริการ และตัวชี้วัดรายไตรมาส รายปี
3.3 ร่วมติดตามการดำเนินงานตรวจสอบภายใน ควบคุมภายใน และประเมินผลทั้งทางบัญชี การเงินและพัสดุ
4.งานอื่นๆที่กระทรวงหรือเขตบริการสุขภาพมอบหมาย
นอกจากนั้น ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 24 กันยายน 2557 สป.สธ. ยังได้มีหนังสือที่ลงนามโดย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดสธ. เลขที่ สธ 0209.03/ว518 เรื่องการมอบหมายภารกิจตามมาตรา 41 ให้สสจ. โดยระบุว่า ตามที่สปสช.ได้ทำหนังสือสอบถามเรื่องมอบหมายภารกิจตามาตรา 41 ให้สสจ. ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทำกิจการแทนสปสช.นั้น สป.สธ.ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหาย และลดปัญหาการเดินทางไปรับบริการที่สปสช.เขต สป.สธ.จึงขอให้หน่วยงานรับการมอบภารกิจตามมาตรา 41 ให้สสจ.ทำหน้าที่แทนสปสช.ต่อไป
ทั้งนี้หนังสือตอบรับดังกล่าว สืบเนื่องจากหนังสือสปสช. เลขที่ สปสช.4.07/2807 ลงวันที่ 8 กันยายน 2557 ลงนามโดยนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. สอบถามเรื่องการมอบภารกิจตามมาตรา 41 ให้สสจ. ซึ่งเป็นภารกิจที่สสจ.ดำเนินการอยู่แล้วเมื่อครั้งที่ยังทำหน้าที่เป็นสปสช.สาขาจังหวัด
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป สสจ.จะทำหน้าที่การดำเนินงานตามมาตรา 41 โดยเมื่อคณะอนุกรรมการมาตรา 41 ระดับจังหวัดพิจารณาและมีมติแล้ว สสจ.ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะอนุกรรมการมาตรา 41 จะต้องมีหนังสือส่งผลการพิจารณา รายงานการประชุมหรือสรุปผลการพิจารณาให้สปสช. ซึ่งสำนักกฎหมาย สปสช.จะสอบทานความชอบด้วยกฎหมาย สร้าง vendor ตามชื่อผู้ยื่นคำร้อง ขออนุมัติจ่ายเงิน พิจารณากรณีอุทธรณ์ รวมทั้งให้ข้อมูลแก่สปสช.เขต เพื่อเฝ้าระวัง/ติดตาม คำร้องรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ได้รับการพิจารณาเสร็จส้นภายใน 30 วัน เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้ผู้ยื่นคำร้องตามมติที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยสปสช.จะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้ยื่นคำร้องโดยตรง ทั้งนี้สปสช.จะให้เงินสนับสนุนเหมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจำนวน 14,450 บาทต่อเดือนที่มีการประชุม
- 144 views