การทำเด็กหลอดแก้ว เป็นความหวังของผู้มีบุตรยากในการที่จะมีบุตรที่ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เข้าช่วยวิธีหนึ่ง เป็นเทคนิคช่วยการเจริญพันธุ์ที่มีการเก็บไข่ออกมานอกร่างกายของฝ่ายหญิง ทำการคัดเลือกไข่ที่ดีและอสุจิที่แข็งแรงของฝ่ายชายแล้วนำมาปฏิสนธิ นำมาเพาะเลี้ยงนอกร่างกายจนเจริญเติบโตจำนวน 4-8 เซลล์ แล้วจึงฉีดกลับเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้ฝังตัวและเจริญต่อไปเป็นทารกในครรภ์
แรกเริ่มในการคิดค้นเทคนิคของเด็กหลอดแก้วนั้น ข้อบ่งชี้ในการทำจะจำกัดอยู่เพียงคู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยาก เนื่องจากท่อนำไข่ตันทั้งสองข้าง ซึ่งท่อเสียหายมากเกินกว่าจะผ่าตัดแก้ไขได้หรือทำผ่าตัดแล้วแต่ไม่สำเร็จ แต่ระยะต่อๆ มาเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มีการพัฒนาขึ้นมาก และมีความสำเร็จในเกณฑ์ค่อนข้างสูง ทำให้ข้อบ่งชี้ในการทำขยายออกไป จนกล่าวได้ว่า ในปัจจุบันภาวะมีบุตรยากจากทุกสาเหตุล้วนเป็นข้อบ่งชี้ในการทำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทั้งสิ้น รวมทั้งถูกนำมาใช้กับคู่สมรสมี่ไม่ได้มีปัญหามีบุตรยากด้วย
โรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ดส และเด็กหลอดแก้วที่เขาให้กำเนิด โซฟี (Sophie) และ แจ็ค เอเมอรี (Jack Emery) ในงานวันเกิด 2 ขวบ เมื่อปี 1998
เด็กหลอดแก้วคนแรกของโลก
เด็กหลอดแก้วคนแรกของโลกกำเนิดขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม 2521 ที่โรงพยาบาล Royal Oldham Hospital เมืองโอลด์แฮม ประเทศอังกฤษ เป็นทารกเพศหญิง ชื่อ “หลุยส์ บราวน์” (Louise Joy Brown) ปัจจุบันอายุ 36 ปี โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ศาสตราจารย์ เซอร์ โรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด (Prof Sir Robert Edwards) ผู้ได้สมญานามว่า “บิดาผู้ให้กำเนิดเด็กหลอดแก้ว” ทำงานร่วมกับ ดร.แพทริค สเต็ปโต (Dr. Patrick Steptoe) ในการพัฒนาเทคโนโลยีการปฏิสนธินอกร่างกาย ( ไอวีเอฟ : In Vitro Fertilization: IVF) หรือการทำเด็กหลอดแก้ว ที่คลินิกบอร์นฮอล์ (bourn hall) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
แม่ เลสลีย์ บราวน์ (Lesley Brown) กำลังอุ้ม หลุยส์ บราวน์ เด็กหลอดแก้วคนแแรกของโลก
ต่อมาภายหลัง “ศาสตราจารย์โรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด” ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ประจำปี 2010 และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2013 ภายในบ้านพักของเขาที่อยู่นอกเมืองเคมบริดจ์ด้วยวัย 87 ปี ถือได้ว่า “ศาสตราจารย์โรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด” เป็นผู้วางรากฐานให้คู่สมรสที่มีบุตรยากทั่วโลกได้มีบุตรสมปรารถนา โดย 1-4 เปอร์เซ็นต์ของทารกทั้งหมดในยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลียในปัจจุบันนี้ กำเนิดด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่บุกเบิกขึ้นโดยศาสตราจารย์เอ็ดเวิร์ด มีการระบุว่าในทุกๆ ปี จะมีเด็กหลอดแก้วเกิดขึ้นประมาณ 350,000 คน ซึ่งมีทั้งที่เกิดจากคู่สมรสที่มีปัญหาทาง ด้านการเจริญพันธุ์ คนโสดที่ต้องการมีบุตร รวมไปถึงคู่รักร่วมเพศทั้งชายและหญิง
จากผลสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้วในขณะนั้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองท่านถูกกล่าวหาจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่า กำลังเล่นกับพระเจ้าและแทรกแซงกระบวนการของธรรมชาติ ซึ่งต่อมาไม่นานได้มีการจัดตั้ง “สมาคมการเจริญพันธุ์ของมนุษย์และคัพภวิทยาแห่งยุโรป” (European Society for Human Reproduction and Embryology)
เด็กหลอดแก้วในประเทศไทย
วิวัฒนาการเด็กหลอดแก้วในไทยนั้น ศ.กิตติคุณ นพ.ประมวล วีรุตมเสน ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ทำเด็กหลอดแก้วสำเร็จคนแรกของประเทศไทย โดยร่วมกับทีมวิจัยทำการทดลองในปี 2527 ด้วยการเลี้ยงตัวอ่อนหนูไมซ์ (Mice) ที่ถือว่าเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การทำ "เด็กหลอดแก้ว" ในไทย โดยเริ่มจากกระบวนการเก็บไข่คน (Oocytes collection) จากห้องผ่าตัดเพื่อนำไปปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการ ในวันที่ 24 มี.ค. 2527
การทดลองก้าวหน้าขึ้น ใน 2 ปีต่อมา ที่มีการตั้งท้องนอกมดลูกจากการถ่ายฝากในระยะ 8 เซลล์และการตั้งครรภ์จากการถ่ายฝากตัวอ่อนในระยะ 4 เซลล์ ทั้งยังมีการตั้งครรภ์นานถึง 9 สัปดาห์จากการฝากตัวอ่อนในระยะ 4 เซลล์แต่มีการแท้งบุตร
จนกระทั่งวันที่ 15 ส.ค. 30 “ด.ช.ปวรวิทย์ ศรีสหบุรี” ได้ถือกำเนิด เป็นเด็กหลอดแก้วคนแรกของไทยและทวีปเอเชีย เด็กหลอดแก้วรายที่ 2 เกิดในปี 2532 และในปี 2534 ได้กำเนิดเด็กเด็กหลอดแก้วแฝด 3 เป็นครั้งแรก จากนั้นอีก 1 ปีต่อมาเด็กหลอดแก้วที่เกิดจากตัวอ่อนแช่แข็งได้กำเนิดเป็นรายแรกของไทย
ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีการทำเด็กหลอดแก้วมีความแตกต่างจากอดีตมาก ตั้งแต่วิธีการ ยาที่ใช้ น้ำยาเพาะเลี้ยงตัวอ่อน วิธีการเก็บไข่ และเทคโนโลยีในปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพดีขึ้น เนื่องด้วยทีมวิจัยมีความรู้มากขึ้น ซึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำเด็กหลอดแก้วในปัจจุบัน ทำให้สามี-ภรรยามีโอกาสอุ้มลูกกลับบ้านโดยไม่แท้งระหว่างการตั้งครรภ์ ในอัตรา 26% ซึ่งเทียบเท่ากับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยจุฬาฯ ได้ให้กำเนิดเด็กหลอดแก้วแล้วกว่า 600 คน โดยมีจำนวนผู้เข้ารับการรักษาจากกรณีมีบุตรยากกว่า 4,000 คน
และในปี 2539 ได้มีการพัฒนากระบวนการช่วยปฏิสนธิ "อิ๊กซี่" (Intra Cytoplasmic Injection: ICSI) ซึ่งเป็นกระบวนการช่วยเหลือกรณีที่เชื้ออสุจิไม่แข็งแรง โดยจะคัดเลือกเชื้อที่แข็งแรงที่สุด 1 ตัวมาใส่ในหลอดแก้วเล็กๆ ที่เรียกว่า "เข็มอิ๊กซี่" จากนั้นเจาะเข็มเข้าไปในไข่เพื่อให้เชื้ออสุจิวิ่งไปปฏิสนธิในเซลล์
ด้วยความก้าวหน้าและอัตราความสำเร็จในการพยายามช่วยให้สามีภรรยาหลายคู่ได้พบกับความสมหวังในการที่จะมีบุตร ทำให้มีคนไข้ต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจมาปรึกษาและเข้ารับการรักษาเรื่องการมีลูกยากในไทย แม้ปัจจุบันจะมีราคาสูง แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่สามารถดำเนินการได้ จะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าและอัตราความสำเร็จใกล้เคียงกัน จนเกิดประเด็นที่เสี่ยงต่อการผิดจริยธรรมดังที่ปรากฏในข่าวอยู่เนืองๆ ทั้งที่ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้มีการกำหนดไว้ว่า สถานที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ต้องได้รับใบอนุญาตจากแพทยสภา โดยมีข้อกำหนดว่าแพทย์ผู้รับผิดชอบจะต้องเป็นแพทย์ที่ได้รับวุฒิบัตรทางด้านสูตินรีเวชจากแพทยสภา และมีทีมที่ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาลและนักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้ความชำนาญทางด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ มีกรรมการควบคุมคุณภาพและจริยธรรม และอย่างน้อยต้องมีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ห้องผ่าตัดที่ใช้ในการเก็บไข่ เครื่องมือที่เกี่ยวกับการเตรียมอสุจิ ตู้เพาะเลี้ยงตัวอ่อน อุปกรณ์แช่แข็งตัวอ่อน และอุปกรณ์กู้ชีวิต
ในปัจจุบันมีสถานบริการที่ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินงานด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทั้งหมด 30 แห่ง โดย 20 แห่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร, 4 แห่งในหาดใหญ่, 3 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่, 2 แห่งในจังหวัดขอนแก่น และ 1 แห่งในจังหวัดอุดร ในจำนวนนี้มีเพียง 12 แห่งที่เป็นสถานบริการของรัฐ ที่เหลือ 18 แห่งเป็นสถานบริการของเอกชน
เอกสารอ้างอิง
20 ปี “เด็กหลอดแก้ว” สัญชาติไทย. [Online], สืบค้นเมื่อ 5 กันยายน 2557, จาก http://www.weneedbaby.com/_m/article/content/content.php?aid=538775986
การทำเด็กหลอดแก้ว. [Online], สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2557, จาก http://www.jetanin.com/th/service/technology_detail/12
“โรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ดส์” ผู้บุกเบิก "เด็กหลอดแก้ว" คว้าโนเบลแพทย์ 2010. [Online], สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2557, จาก http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000139406
"หลุยส์ บราวน์" และเด็กหลอดแก้ว. [Online], สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2557, จาก
http://www.artsmen.net/content/show.php?Category=technoboard&No=5850
- 3245 views