โรงพยาบาลเอกชน-ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก เผยงานชุก เปิดตัวเลขผู้รับบริการพุ่งทะลุปีละกว่าครึ่งหมื่น ผลพวงจากคนแต่งงานช้า-ไลฟ์สไตล์เปลี่ยน เผยลูกค้าต่างประเทศบินตรงเข้ามาใช้บริการเพียบ "สมิติเวช-กรุงเทพ" ชี้ดีมานด์สูง หนุนการเติบโตเป็นดับเบิล ดิจิต ขณะที่ "ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที." มั่นใจคุณภาพ-ราคาเป็นต่อ "เออีซี" เปิดไทยได้เปรียบทุกประตู ลูกค้าแห่ซบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการรวบรวมตัวเลขจำนวนผู้เข้ารับการรักษาภาวะการมีบุตรยาก (Infertile) ของราชวิทยาลัย สูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาพบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ปี 2547 มี 2,610 ราย และเพิ่มเป็น 3,140 ราย ในปีถัดมา จากนั้นในปี 2549 ตัวเลขเพิ่มเป็น 3,289 ราย และปี 2550 เพิ่มเป็น 3,304 ราย ปี 2551 โตแบบก้าวกระโดดเป็น 4,399 ราย และเพิ่มเป็น 5,481 ราย เมื่อปี 2552 นอกจากนี้ผู้ประกอบการหลายรายยังได้กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า จำนวน ผู้เข้ารับการรักษาภาวะการมีบุตรยาก เมื่อปี 2554 ตัวเลขเพิ่มขึ้นมาถึง 6,000 ราย

นายแพทย์สมบูรณ์ คุณาธิคม ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขการเข้ารับบริการเพิ่มมาจากปัจจุบันคนมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น อย่างยิ่งในแง่ที่ว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยให้มีบุตรได้ และที่เป็นสาเหตุหลักก็คือผู้ที่มีบุตรยากมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการแต่งงานช้าหรือแต่งงานตอนมีอายุมาก เมื่ออายุมากอัตราการเจริญพันธุ์ก็ลดลง หรือโอกาสในการตั้งครรภ์ต่ำ หรือผู้หญิงมีเรื่องของโรคเกี่ยวกับมดลูก-รังไข่

หากพิจารณาแนวโน้มจำนวนผู้เข้ารับการรักษาของโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนแต่ละแห่ง จะพบว่าหากเป็นเอกชนจะมีจำนวนผู้ป่วยต่างชาติเพิ่มขึ้นมาก ส่วนของรัฐบาลจะไม่ค่อยมีเพิ่มเท่าไหร่ส่วนโรงพยาบาลกรุงเทพที่เปิดให้บริการด้านนี้มา 3-4 ปี ก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในแง่ของจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการ และเป็นสัดส่วนของคนต่างประเทศมากกว่าคนไทย และมีแนวโน้มค่อย ๆ เพิ่มขึ้น

ขณะที่นายแพทย์บุญแสง วุฒิพันธุ์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะการมีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ตลาดนี่มีดีมานด์สูง ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ แม้ว่าจำนวนผู้เข้ารับการรักษาภาวะการมีบุตรยากในเมืองไทยจะมีเพิ่มขึ้นทุกปี แต่สมิติเวชก็จะมีการพิจารณาข้อบ่งชี้การรักษา เทคนิคการรักษา อย่างเข้มงวดในหลายมิติ ทั้งมิติทางการแพทย์ มิติในทางสังคม มิติเชิงเศรษฐศาสตร์ ว่าจะมี ผลกระทบในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวอย่างไรหรือไม่

ที่ผ่านมามีหลายคู่ที่โรงพยาบาลไม่รับทำให้ เช่น กรณีของผู้หญิงที่อยู่ด้วยกันแล้วต้องการจะมีบุตร และเมื่อพิจารณาแล้วเกรงว่าจะมีผลกระทบในเชิงสังคม โรงพยาบาลก็ไม่รับ สำหรับสมิติเวชเองที่ผ่านมามีผู้เข้ารับการรักษาภาวะการมี บุตรยากก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี และส่วนใหญ่เป็นลูกค้าจากต่างประเทศ

เช่นเดียวกับ นายศรายุทธ อัสสมกร กรรมการผู้จัดการ ศุนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. กล่าวว่า ภาพรวมของการให้บริการรักษาผู้มีบุตรยาก ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่า การเติบโตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวนั้นมาจากชาวต่างประเทศและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริการนี้ของโรงพยาบาลที่เปิดให้บริการ และศูนย์ของเอกชน มีการเติบโตเป็นเลขสองหลัก หรือดับเบิลดิจิต
การที่ชาวต่างประเทศเข้ามาใช้บริการ ในเมืองไทยมาก หลัก ๆ มาจากอัตราราคาค่าบริการที่ไม่สูง หากเมื่อเทียบกับ ต่างประเทศทั้งสิงคโปร์หรือฮ่องกง ที่สำคัญคือคุณภาพที่ดีกว่าซึ่งเป็นการวัดจาก ผลสำเร็จ คือการทำให้ลูกค้าตั้งครรภ์ได้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากล และบริการที่ดีกว่า

สำหรับซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. กลุ่มลูกค้า 75-80% เป็นชาวต่างประเทศ มีคนไทยเพียง 20-25% นอกจากการรักษาผู้มีบุตรยากแล้ว ซูพีเรียฯยังเน้นการให้บริการในเรื่องการตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อน เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ทำให้เกิดบุตรที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม และ อาจจะกล่าวได้ว่า ซูพีเรียฯนั้นเป็นเอกชนเพียงรายเดียวในเอเชียที่มีเทคโนโลยีนี้

การเปิดเออีซีที่จะมาถึงในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะส่งผลดีกับธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของเทคโนโลยีทรานสเฟอร์ และในแง่ลูกค้าก็จะง่ายขึ้น เพียงแค่เรื่องวีซ่าก็จะสะดวกรวดเร็วมากขึ้น เพราะประเทศไทยนั้นได้เปรียบประเทศอื่น ๆ อยู่แล้วในแง่ของคุณภาพ ราคาที่ไม่แพง บริการที่ดีกว่า เมื่อเปิดเออีซีก็จะทำให้ชาวต่างประเทศที่มีความต้องการทางด้านนี้เข้ามาใช้บริการในบ้านเรามากขึ้น

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555