คนไทยเสี่ยงรับยาพาราฯเกินขนาดทำให้เป็นพิษต่อตับ ดัน "การใช้ยาสมเหตุผล" ให้เขียนกำกับการใช้ยาห้ามกินเกิน 8 เม็ดต่อวัน เตรียมประชาพิจารณ์ก่อนประกาศใช้ แนะ สรพ.คุมการเบิกจ่ายในสถานพยาบาล ด้าน กพย.เสนอ อย.ทบทวนตำรับใหม่ทั้งหมด
26 ก.ย. 57 นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ ประมาณ 50 แห่งทั่วประเทศ ได้หารือถึงการใช้ยาพาราเซตามอลอย่างสมเหตุผล เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ในท้องตลาดมีการวางจำหน่ายยาพาราฯหลายขนาด โดยเฉพาะขนาด 650 มิลลิกรัม (มก.) ที่มีความเสี่ยงว่าผู้ป่วยอาจได้รับยาเกินขนาดและเป็นพิษต่อตับ
"คนไทยมีความเชื่อว่า ถ้าเจ็บป่วยและต้องรักษาด้วยยาพาราฯ ต้องกินครั้งละ 2 เม็ด แต่ตามเกณฑ์มาตรฐานระบุไว้ที่ 1,000 มก.เท่านั้น เนื่องจากยาพาราฯเป็นยาพื้นฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ที่ประชุมจึงมีมติให้เริ่มส่งเสริมการใช้ยาดังกล่าวอย่างสมเหตุผล เริ่มต้นที่โรงพยาบาลเป็นอันดับแรก โดยกำหนดให้แพทย์สั่งจ่ายยาพาราฯ แก่ผู้ป่วยหญิง จำนวน 1 เม็ด กินทุก 6 ชั่วโมง ส่วนผู้ป่วยชายให้พิจารณาเป็นรายบุคคล จากเดิมที่เขียนสั่งจ่ายยาพาราฯให้ผู้ป่วยในอัตรา 2 เม็ด กินทุก 4 ชั่วโมง" นพ.พิสนธิ์กล่าว และว่า นอกจากนี้ ให้เขียนกำกับบนฉลากยาด้วยว่า "ห้ามใช้ยาพาราฯเกิน 8 เม็ดต่อวัน เพราะเป็นพิษต่อตับ"
นพ.พิสนธิ์กล่าวอีกว่า ในเร็วๆ นี้ จะเสนอต่อสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) บรรจุให้การใช้ยาอย่างสมเหตุผล เป็น 1 หลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพโรงพยาบาล (HA) ด้วย โดยในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ จะมีการพิจารณาประเด็นดังกล่าว และวันที่ 29 ตุลาคม จะมีพิธีลงนามความร่วมมือเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในโรงพยาบาลต่างๆ กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด้วย
ด้านนสพ.มติชน วันที่ 26 ก.ย.57 รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) แถลงว่า เสนอให้ อย.ทบทวนตำรับยาแบบยกเครื่อง เนื่องจากขณะนี้มียาหลายตัวที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาซ้ำซ้อน
และพบว่ามียาบางชนิดมีตัวยาและสูตรยาไม่เหมาะสม ทำให้ไม่ปลอดภัยและไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา เช่น ลูกอมแก้เจ็บคอผสมยาปฏิชีวนะ หรือยาพาราเซตามอล ที่สหรัฐอเมริกาประกาศลดขนาดเหลือ 350 มก. แต่ไทยยังมีขนาด 500 มก. ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการกินยาเกินขนาด นอกจากนี้ บางส่วนยังมีข้อมูล รูปลักษณ์ และระบุข้อบ่งใช้ที่ไม่เหมาะสมบนฉลาก การมียาฝาแฝดที่ทำให้ผู้บริโภคสับสน เป็นต้น ทั้งนี้ อาจกำหนดให้ทบทวนทุก 5 ปี หรือตามที่เห็นสมควร
ภก.วินิต อัศววิกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข ในฐานะผู้แทนเลขาธิการ อย.กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา พ.ศ. ... ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกากำหนดให้ยาที่ขึ้นทะเบียนมีอายุ 5 ปี และต้องมีการทบทวนตำรับยาแม้จะผ่านขึ้นทะเบียนแล้วก็ตาม
- 55 views