การรักษาบาดแผลที่เกิดจากไฟไหม้น้ำร้อนลวก หรือแผลถลอกทั่วไปสร้างความเจ็บปวดทรมานให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องแกะผ้าก๊อซออกมาเพื่อล้างทำความสะอาดแผลเพราะแผลจะแห้งและลอกหลุดยาก ต้องใช้น้ำเกลือล้างแผลช่วยละลายสิ่งคัดหลั่งบนแผลให้ชุ่ม จึงจะลอกผ้าก๊อซออกได้ ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดและกลัวการทำแผลไปเลยทีเดียว
นางไอยริษา เสาร์ศิริ
นวัตกรรมการนำใบตองอ่อนมาใช้ในการรักษาบาดแผล เป็นผลงานของนางไอยริษา เสาร์ศิริ พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)อีเซ อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2557 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาไทยในท้องถิ่น มาใช้ในระบบบริการประชาชนและประสบผลสำเร็จ ได้ผลดี สร้างความพึงพอใจ ช่วยลดอาการเจ็บปวดของผู้ป่วยขณะทำแผลได้เป็นอย่างดี
นางไอยริษา กล่าวว่า ที่ รพ.สต.อีเซ ในแต่ละเดือนจะมีชาวบ้านมาทำแผลประมาณ 12-25 ราย ส่วนใหญ่เป็นแผลที่เกิดจากไฟฟ้าน้ำร้อนลวก แผลเปื่อยติดเชื้อ และแผลถลอก เป็นต้น ซึ่งบาดแผลที่สร้างความเจ็บปวดทรมานให้กับคนไข้มากที่สุดคือแผลถลอกและแผลไฟไฟไหม้น้ำร้อนลวก เนื่องจากเมื่อปิดผ้าก๊อซทับแผลแล้วลอกหลุดออกยากบางครั้งมีเนื้อหลุด เลือดไหล ต้องใช้น้ำเกลือล้างแผลช่วยละลายสิ่งคัดหลั่งบนแผลให้ชุ่มจึงจะลอกผ้าก็อซออกได้ ทำให้ผู้ป่วยได้รับความเจ็บปวด จากการพูดคุยกับชาวบ้านทราบว่าในอดีตเคยใช้ใบตองกล้วยมาติดทับแผลแทนผ้าก๊อซ จึงได้ศึกษาภูมิปัญญาวิถีชาวบ้านวิธีนี้ดู โดยทดลองใช้ใบตองกล้วยใบอ่อนที่ยังไม่คลี่ใบ มาใช้ปิดบาดแผลแทนการใช้ผ้าก๊อซเคลือบวาสลิน ควบคู่กับการให้ยาปฏิชีวนะ
หลังจากการศึกษาและทดลองใช้ใบตองอ่อนปิดแผลให้ผู้ป่วยที่มีบาดแผลถลอก แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก จำนวน 20 ราย พบว่าบาดแผลที่ปิดด้วยใบตอง เนื้อเยื่อมีการสมานกันได้ดี และใบตองอ่อนไม่ติดกับบาดแผล ทำให้แผลหายเร็วกว่าแผลที่ปิดด้วยผ้าก๊อซเคลือบวาสลิน กว่า 80% โดยบาดแผลถลอกไม่ลึกที่ใช้ใบตองปิด จะใช้เวลาหายประมาณ 7 วัน หากใช้ผ้าก๊อซเคลือบวาสลินปิด จะใช้เวลา12-14วัน ส่วนบาดแผลถลอกหรือแผลไฟไหม้ที่มีขนาดลึก การปิดแผลด้วยใบตองอ่อน จะหายประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนแผลที่ใช้ผ้าก๊อซเคลือบวาสลินปิด จะหายประมาณ 3-4 สัปดาห์ สร้างความพึงพอใจให้ผู้ป่วยสูงถึง 98% มีอาการเจ็บปวดเล็กน้อยขณะทำแผล หากเป็นผู้ป่วยเด็กจะชื่นชอบมากและไม่กลัวการทำแผลเหมือนที่ผ่านมา ส่วนในด้านต้นทุนพบว่า เกิดการลดต้นทุนต่อครั้ง ลงประมาณ 50 % การทำแผลและปิดแผลด้วยใบตองอ่อน ใช้เงินประมาณ 18-20 บาท ขณะที่การใช้ผ้าก๊อซเคลือบวาสลินปิดแผลมีต้นทุนประมาณ 50 บาท
นางไอยริษากล่าวอีกว่า ในการนำใบตองอ่อนมาปิดแผลนั้นจะเลือกใบตองอ่อนที่เป็นมวนกรวย คลี่ใบตองออกตัดส่วนที่สัมผัสอากาศทิ้งไป และตัดให้พอเหมาะกับขนาดแผล จากนั้นใช้ไม้พันสำลีชุบแอลกอฮอล์ เช็ดทำความสะอาดฆ่าเชื้อใบตองด้านที่มีผิวมันที่จะใช้ปิดแผล การเช็ดต้องเช็ดทางเดียวให้เต็มพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลดีในการฆ่าเชื้อโรคได้ 100 เปอร์เซ็นต์ หลังจากทำความสะอาดบาดแผลถลอก แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกตามมาตรฐานแล้ว ขั้นต่อไปคือการปิดแผล จะนำใบตองอ่อนที่ผ่านการเช็ดฆ่าเชื้อแล้ว มาปิดลงบนแผล และใช้ผ้าก๊อซทำแผล ปิดซ้ำข้างบนและติดพลาสเตอร์ยึดไว้ ใบตองอ่อนที่เหลือ สามารถเก็บไว้ใช้ต่อไปได้ โดยตัดเป็นท่อนขนาดพอใช้กับแผล ใส่ในถุงพลาสติก สามารถเก็บในตู้เย็นช่องธรรมดาอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ได้นาน 1 เดือน
“หลังจากนำวิธีนี้มาใช้ชาวบ้าน กว่า 95 % พอใจและเชื่อมั่นซึ่งจะเห็นได้จากการมีส่วนร่วมโดยชาวบ้านจะนำใบตองอ่อนมาเองเวลามาทำแผลที่รพ.สต.อีเซ เนื่องจากที่ รพ.สต.จะไม่มีต้นกล้วยใครจะรักษาบาดแผลด้วยวิธีน้ำต้องนำใบตองอ่อนมาเองแล้วทางเราจะทำความสะอาดฆ่าเชื้อให้ โดยเฉพาะเด็กเวลานำใบตองมาเองจะลุ้นมากอยากให้ถึงเวลาล้างแผลเร็ว ๆ จากที่เคยกลัวการล้างแผล ตอนนี้สนุกสนานกันใหญ่ “นางไอยริษากล่าว
นางไอยริษา ฝากเตือนว่า ไม่ควรนำใบตองที่ยังไม่ผ่านการฆ่าเชื้อมาปิดแผลเพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ส่งผลให้แผลหายช้า หรือเน่าเปื่อย จนถึงขั้นต้องตัดอวัยวะทิ้ง
การนำใบตองอ่อนมาใช้รักษาบาดแผล ครั้งนี้เป็นเพียงก้าวแรกในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้เพื่อให้ผู้ป่วยรับประโยชน์สูงสุด
- 437 views