หมอประเวศแนะทางออกปมขัดแย้งหลังหมอรัชตะควบ 2 ตำแหน่ง แนะใช้หลักประชาธิปไตยแบบสุนทรียสนทนา พูดคุยปรึกษาหารือ จะมีคุณภาพกว่าประชาธิปไตยแบบใช้อำนาจ
17 ก.ย.57 จากกรณี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ดำรงตำแหน่งควบระหว่างอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ รมว.สาธารณสุข จนประชาคมมหิดล คัดค้านการควบ 2 ตำแหน่งดังกล่าวนั้น ล่าสุด ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้เขียนบทความเรื่อง "ทางออกกรณีความขัดแย้งเรื่องหมอรัชตะ" โดยระบุว่าเดิมทีไม่มีกรณีเช่นนี้ เพราะ พ.ร.บ.และข้อบังคับมหาวิทยาลัยกำหนดให้อธิการบดีเป็นผู้ทำงานเต็มเวลา แต่รัฐธรรมนูญ คสช.กำหนดข้อยกเว้น ทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งมิติทางกฎหมาย การเมือง และความรู้สึกของประชาคมในมหาวิทยาลัยที่คัดค้านการควบตำแหน่ง ในขณะที่รัฐบาล คสช.คงไม่ต้องการให้ นพ.รัชตะ ออกจากตำแหน่ง เพราะกลัวเป็นไฟลามทุ่งไปยังรัฐมนตรีอีกหลายคน จึงอ้างรัฐธรรมนูญมีฐานะสูงกว่า พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยคำตอบสำเร็จรูปแบบ Yes หรือ No เพราะไม่ว่าคำตอบใดก็ตาม ความขัดแย้งยังคงมีอยู่และอาจบานปลายมากขึ้น
ส่วนทางออกนั้นในบทความ ศ.นพ.ประเวศ เสนอว่าให้ใช้หลักประชาธิปไตยแบบสุนทรียสนทนา (Deliberative Democracy) คือต้องรู้จักกระบวนการประชาธิปไตยที่ผ่านการพูดคุย ปรึกษาหารือกันด้วยวิจารณญาณ ซึ่งมีคุณภาพมากกว่าประชาธิปไตยแบบใช้อำนาจ เพราะเป็นการใช้ปัญญาด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน ใช้สัมมาวาจา ใช้เหตุผล ข้อมูลความรู้ โดยอาจใช้คำของท่านพุทธทาสว่า "สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ" คือใช้ความบริสุทธิ์และปัญญา ร่วมกับเมตตาและขันติ ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่ทางออกร่วมกัน ซึ่งบอกไม่ได้ล่วงหน้าว่าทางออกจะเป็นอย่างไร แต่กระบวนการนั้นออกมาด้วยหลักโยนิโสมนสิการ
ศ.นพ.ประเวศ วะสี : ทางออกกรณีความขัดแย้งเรื่องหมอรัชตะ
กรณีความขัดแย้งเรื่องอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ควบตำแหน่ง รมว.สาธารณสุขเป็นสถานการณ์ใหม่ของความขัดแย้ง เดิมไม่มีกรณีเช่นนี้ เพราะ พ.ร.บ. และข้อบังคับมหาวิทยาลัยกำหนดให้อธิการบดีเป็นผู้ทำงานเต็มเวลา แต่รัฐธรรมนูญ คสช. กำหนดข้อยกเว้น ทำให้เกิดความขัดแย้งหลายมิติ
๑. ปัญหาที่ซับซ้อนหลายมิติ
(๑.) มิติทางกฎหมายที่ขัดกันดังกล่าวข้างต้น
(๒.) ความรู้สึกของประชาคมในมหาวิทยาลัยที่คัดค้านการควบตำแหน่ง ถือเอาจิตสำนึกและความเป็นจริง (ว่าไม่สามารถทำงานเต็มเวลา) สำคัญกว่ากฎหมาย และเรียกร้องให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณา สภาไม่สามารถมีมติที่ขัดกฎหมาย แต่กฎหมายก็ขัดกัน โดยที่กฎหมายรัฐธรรมนูญมีสถานะสูงกว่า
(๓.) ความรู้สึกของประชาคมระหว่างมหาวิทยาลัย เพราะกระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์กรระดับชาติที่ต้องทำงานร่วมกับทุกมหาวิทยาลัยอย่างเสมอกัน
(๔.) มิติทางการเมือง รัฐบาลและ คสช. คงไม่ต้องการให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลลาออกจากตำแหน่ง เพราะกลัวจะเป็นไฟลามทุ่ง ไปยังรัฐมนตรีอื่นๆอีกหลายคนที่ควบตำแหน่ง รัฐบาลและคสช.สามารถอ้างว่ารัฐธรรมนูญมีฐานะทางกฎหมายสูงกว่า พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยมหิดล และแม้ที่สุดหัวหน้า คสช. ยังมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ที่ก้าวข้ามกฎหมายได้ แต่ถ้าถึงขั้นนั้น ก็จะดึงประชาคมมหาวิทยาลัยตามข้อ (๒) เข้ามาขัดแย้งกับ คสช. ซึ่ง คสช. คงจะไม่ต้องการหรือไม่สบายใจ
๒. ปัญหาที่ซับซ้อนแก้ไขไม่ได้แบบ yes หรือ no
เมื่อมีปัญหาที่ซับซ้อน คำตอบสำเร็จรูปแบบ yes หรือ no แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะไม่ว่า yes หรือ no ความขัดแย้งก็ยังอยู่และอาจบานปลายมากขึ้น ที่จริงปัญหาปัจจุบันเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่าปัญหาง่ายๆตรงไปตรงมา แต่สังคมไทยชอบคำตอบสำเร็จรูปมากกว่ากระบวนการ (process) จึงแก้ปัญหาไม่ได้และขัดแย้งกันมากขึ้น
๓. Deliberative democracy – ประชาธิปไตยแบบสุนทรียสนทนา
เราควรรู้จักกระบวนการประชาธิปไตย ที่ผ่านการพูดคุยปรึกษาหารือกันด้วยวิจารณญาณ กระบวนการนี้มีคุณภาพมากกว่าประชาธิปไตยแบบใช้อำนาจ เพราะเป็นการใช้ปัญญาด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน ใช้สัมมาวาจา ใช้เหตุใช้ผล ใช้ข้อมูลใช้ความรู้
อาจใช้คำของท่านอาจารย์พุทธทาสว่าใช้ สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันตี
เมื่อใช้ สุทธิ คือ ความบริสุทธิ์และปัญญา แล้วก็ยังไม่พอที่จะฝ่าความยากไปได้ ยังต้องใช้เมตตา และขันตีอีกด้วย
กระบวนการประชาธิปไตยแบบใช้วิจารณญาณ หรือ Deliberative democracy หรือประชาธิปไตยแบบสุนทรียสนทนานี้ในที่สุดจะนำไปสู่ทางออกร่วมกัน ซึ่งบอกไม่ได้ล่วงหน้าว่าคืออะไร แต่ผุดบังเกิด (emerge) ออกมาจากกระบวนการร่วมกันด้วยโยนิโสมนสิการ
- 15 views