ถ้าพูดถึงพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช อาจะจะไม่ค่อยมีคนรู้จัก แต่ถ้าพูดว่าพิพิธภัณฑ์ที่เก็บซีอุยแล้วทุกคนจะต้องร้องอ๋อกันเป็นแถว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2525 ภายในโรงพยาบาลศิริราชซึ่งเริ่มมาจากการเก็บและจัดแสดงสิ่งของของแต่ละภาควิชา
พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช อยู่ภายใต้การดูแลของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เดิมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีมากถึง 13 แห่ง แยกเป็นแต่ละสาขา เมื่อระยะเวลาผ่านไปพิพิธภัณฑ์ คงเหลือเพียง 6 แห่งที่สามารถเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้มี โอกาสเข้าเยี่ยมชม คือ พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน พิพิธภัณฑ์ ประวัติการแพทย์ไทย อวย เกตุสิงห์ พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน และพิพิธภัณฑ์ก่อน ประวัติศาสตร์และห้องปฏิบัติการ สุด แสงวิเชียร
ภายในแต่ละพิพิธภัณฑ์จะเป็นที่เก็บรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ และบอร์ดให้ความรู้ที่มีทั้งของจริงและของจำลอง แต่พิพิธภัณฑ์ที่ได้รับกล่าวขวัญและเยี่ยมชมมากที่สุดคือพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ ที่เก็บรวบรวมหลักฐาน โครงกระดูกในคดีฆาตกรรมต่างๆ อาทิ เสื้อของพยาบาลนวลฉวี และการเก็บศพของซีอุย เจ้าของตำนาน มนุษย์กิน(อวัยวะ) คน
ด้วยความเจริญด้านเทคโลโลยี จึงทำให้พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราชได้มีการปรับปรุงเรื่อยมา และได้นำเอาเทคโนโลยีด้าน แสง สี เสียง เข้ามาช่วยดึงดูดผู้เข้าชมให้รู้สึกตื่นตาตื่นใจ มากกว่าพิพิธภัณฑ์แบบเก่าในอดีต ที่สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้เข้าชม โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กที่ขวัญอ่อน ที่หันไปทางไหนก็เจอแต่ซากศพ อวัยวะที่ถูกดอง หัวกระโหลกนับสิบๆหัว
แต่ในปัจจุบันผู้เข้าชมจะพบกับความสนุกเพลิดเพลินที่มาพร้อมกับความรู้ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแพทย์ในประเทศไทย
ต่อมาเมื่อคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้รับมอบพื้นที่บางส่วนของสถานีรถไฟธนบุรีจำนวน 33 ไร่ จาก การรถไฟแห่งประเทศไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 นั้น ทางคณะฯเล็งเห็นว่า เพื่อให้วงการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศมีการพัฒนาทั้งด้านวิชาการการวิจัย การศึกษา และการบริการชั้นเลิศ คณะฯ จึงเสนอโครงการพัฒนาศิริราชสู่สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์ต่อรัฐบาล จึงได้วางแผนการดำเนินงาน เพื่อมุ่งสู่สถาบันทางการแพทย์ชั้นเลิศฯ ซึ่งประกอบด้วยโครงการย่อย 7 โครงการ พิพิธภัณฑ์เป็นหนึ่งในโครงการย่อยเหล่านั้น
ทั้งนี้คณะฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาศิริราชสู่สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์ ในส่วนของพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราชขึ้น เพื่อให้รับผิดชอบดูแลพิพิธภัณฑ์ต่างๆในศิริราช คณะอนุกรรมการฯได้ พิจารณาจัดตั้ง คณะทำงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่รวบรวมเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ ภาควิชาและหน่วยงานต่างๆ ภายในโรงพยาบาลศิริราชเพื่อเก็บเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับโครงการ ซึ่งทั้งหมดรวมเรียกเป็น พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช ในปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่นี้มีชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ช่วยเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ ทั้งด้านประวัติศาสตร์การแพทย์ การก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช และโรงเรียนแพทย์แห่งแรก พัฒนาการวิทยาการแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราชทั้งแผนปัจจุบัน และแผนไทย และประวัติศาสตร์โบราณคดีของพื้นที่วังหลัง-บางกอกน้อย
พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ประกอบด้วยอาคารอนุรักษ์ 4 หลัง อันได้แก่ อาคารพิพิธภัณฑ์ 1 ประกอบด้วย ห้องศิริสารประพาส หอศิริราชขัตติยพิมาน ฐานป้อม ห้อง โบราณราชศัสตรา ห้องคมนาคมบรรหาร และอื่นๆ ส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ 2 คือ โถงธนบุรีพื้นที่ชั้นล่างของอาคารจัดเตรียมไว้เพื่อจัดนิทรรศการชั่วคราว และอาคารพิพิธภัณฑ์ 3 ประกอบด้วย อาคารนิวาสศิรินาเวศ ซึ่งเป็นอาคารโกดังสินค้าริมคลองบางกอกน้อย เรือโบราณ และเส้นทางท่องเที่ยวละแวกบางกอกน้อย และอาคารพิพิธภัณฑ์ 4 คลังพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานกับคลองบางกอกน้อย เดิมเป็นโกดัง ได้รับการปรับเปลี่ยนรูปแบบและการใช้งานให้เป็นคลังสิ่ง แสดงของคณะฯ
พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เปิดทำการวันจันทร์, พุธ– อาทิตย์ (หยุดวันอังคารและวันนักขัตฤกษ์) เวลา 10.00 น. – 17.00 น.ค่าบริการเข้าชมสำหรับต่างชาติ 200 บาท คนไทย 80 บาท เด็ก 25 บาท หรือโทร.02-419-2618-9 หรือดูข้อมูลที่ http://www.si.mahidol.ac.th/museums/th/m7.html
- 4392 views