ปัญหาของผู้ป่วยติดเตียงหนีไม่พ้นเรื่องของแผลกดทับยิ่งหากดูแลไม่ดีอาจส่งผลให้ติดเชื้อและรุนแรงจนยากรักษาหายและเสียชีวิตในที่สุด นวัตกรรมที่นอนลม ป้องกันแผลกดทับ เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหวลดปัญหาจากการเกิดแผลกดทับ และกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายภูดิศ สะวิคามิน
นายภูดิศ สะวิคามิน นักกายภาพบำบัดโรงพยาบาลเซกา อ.เซกา จ.บึงกาฬ เจ้าของนวัตกรรมที่นอนลม ป้องกันแผลกดทับ เล่าว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านพบผู้ป่วย 4 กลุ่มที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหว ได้แก่ ผู้พิการทางร่างกาย ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยสูญเสียระบบประสาท จาการผ่าตัด อุบัติเหตุ และกลุ่มผู้ป่วยระยะฟื้นฟู กระดูกหักต้องนอนติดต่อกันเป็นเวลานานจำนวน กว่า 250 คน ในจำนวนนี้ 25 คนเป็นแผลกดทับบางรายติดเชื้อรุนแรงและเสียชีวิตในเวลาไม่ถึง 2 เดือน ในช่วงแรกได้มีการแก้ปัญหาแผลกดทับ โดยระดมทุนหางบประมาณจัดซื้อที่นอนลมไฟฟ้าแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยได้หมุนเวียนกันใช้จำนวน 28 ตัว เนื่องจากงบประมาณโรงพยาบาลมีจำกัด ทำให้มีที่นอนลมไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย บางรายได้รับเตียงไปแล้วแต่ไม่ใช้เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปัญหาแผลกดทับยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ
เมื่อเห็นว่าเตียงลมไฟฟ้าไม่สามารถแก้ปัญหาแผลกดทับให้ชาวบ้านได้และยังเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายอีกก็เลยมาร่วมกันคิดหาวิธีใหม่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย เรื่องค่าไฟฟ้า จึงมีแนวคิดผลิตที่นอนลมจากถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้ว เนื่องจากในอำเภอเซกา มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องล้างไตทางหน้าท้องจำนวนมาก และถุงน้ำยาล้างไตก็ไม่สลายตามธรรมชาติ เผาทำลายก็เกิดเป็นมลภาวะทำลายชั้นบรรยากาศทำให้โลกร้อน เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งถุงน้ำยาล้างไตมีคุณสมบัติทำจากซิลิโคลนคุณภาพสูง มีความยืดหยุ่น รับน้ำหนักได้มาก มีความเหนียวและที่สำคัญมีความนุ่มไม่แตกง่ายไม่ร้อนใช้ได้ทั้งแบบลมและแบบน้ำ น่าจะนำมาใช้ทำที่นอนลมได้ดีกว่าก็เลยทดลองทำและให้ผู้ป่วยในพื้นที่รับผิดชอบที่มีแผลกดทับจำนวน 25 คน และไม่มีแผลกดทับจำนวน 150 รายใช้แทนเตียงลมไฟฟ้า
หลังจากให้ผู้ป่วยทดลองใช้พบว่ากลุ่มที่มีแผลกดทับอยู่แล้ว แผลไม่ลึก ไม่มีการอักเสบติดเชื้อและไม่ต้องปิดแผลจำนวน 13 ราย ทุกรายแผลหายได้ในเวลา 1-4 สัปดาห์ ตามขนาดความกว้างของแผล ส่วนกลุ่มที่มีแผลลึกถึงเอ็นและกระดูกแต่ไม่มีการติดเชื้อ จำนวน 7 ราย แผลหาย ในระยะเวลา 3 เดือน -1 ปี แผลมีพัฒนาการค่อยๆตื้นขึ้น ส่วนกลุ่มที่มีแผลกดทับลึกถึงเอ็นและกระดูกมีการติดเชื้อจำนวน 5 ราย แผลหาย 40% แผลตื้นขึ้นและดีขึ้นเรื่อยๆโดยใช้เวลามากกว่า 1 ปี ต้องมีการล้างแผลและบางทีต้องใช้ยาและวิธีอื่นร่วมด้วย ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่มีแผลกดทับอยู่แล้วพบว่าหลังนอนที่นอนลมจะไม่มีแผลกดทับเกิดขึ้นจำนวน 128 ราย ส่วนผู้ที่ไม่มีแผลแต่ไม่ยอมนอนที่นอนลม พบมีแผลกดทับ 77% เนื่องจากญาติดูแลไม่ดี
สำหรับวิธีทำที่นอนลมลดแผลกดทับ เริ่มจากการนำถุงน้ำยาล้างไตที่ใช้แล้วนำมาเป่าลมให้พองเต็มที่แล้วใช้หนังยางรัดให้แน่นเพื่อไม่ให้ลมรั่วออกมา จากนั้นก็นำผ้ามาเย็บเป็นถุงนอนตามขนาดที่ต้องการ แล้วนำถุงน้ำยาล้างไตที่เป่าลมยัดเข้าไปด้านในจนเต็ม เย็บเก็บรายละเอียดโดยด้านในจะเย็บเป็นลิ้นไว้กั้นถุงน้ำยาเพื่อไม่ให้ไหลไปรวมกัน จากนั้นนำที่นอนลมไปปูทับที่เตียงคนไข้โดยวางด้านที่มีปุ่มไว้ด้านบนใช้ผ้าหรือพลาสติกปูทับอีกครั้งก่อนให้ผู้ป่วยนอน
“ในช่วงแรกเราทำเป็นที่นอนขนาดใหญ่ เวลาจะเปลี่ยนผ้าหรือเปลี่ยนถุงน้ำยาใหม่ยุ่งยากและถุงลมก็จะกลิ้งไปมาก็เลยลดขนาดที่นอนลงและเย็บลิ้นด้านในกั้นป้องกันถุงลมกลิ้ง ทำให้ญาติผู้ป่วยสะดวกมากขึ้น เพราะในผู้ป่วยที่มีแผลกดทับอยู่แล้วสามารถถอดถุงลมออกได้ในบริเวณที่เกิดแผล อีกทั้งถุงลมที่แฟบก็สามารถนำออกมาเป่าลมใส่เข้าไปใหม่ได้ นอกจากนี้ในหน้าร้อนก็เปลี่ยนจากลมมาใส่น้ำแทนทำให้เตียงเย็นขึ้นผู้ป่วยนอนสบายขึ้น”นักกายภาพรพ.เซกาเล่า
นักกายภาพ รพ.เซกา ยังบอกอีกว่าการผลิตและตัดเย็บที่นอนลม ป้องกันแผลกดทับนี้เป็นฝีมือของกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรังในพื้นที่ อ.เซกาจากงบสนับสนุนของกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการและผู้สูงอายุที่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 8 อุดรธานีได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจัดขึ้น เพื่อผลิตที่นอนลมป้องกันแผลกดทับแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยในเขตพื้นที่ได้ใช้
นอกจากนี้ สำนักงานเขต 8 กระทรวงสาธารณสุขยังได้บรรจุเป็นแผนระยะสั้นให้โรงพยาบาลในพื้นที่ผลิตที่นอนลมป้องกันแผลกดทับใช้กับผู้ป่วยทุกอำเภอในเขต 8 ทั้ง 7 จังหวัด ซึ่งเป็นการรับประกันได้ว่าที่นอนลม ป้องกันแผลกดทับสามารถแก้ปัญหาได้จริง โดยทางเราจะเข้าไปสอนวิธีทำให้ตามโรงพยาบาลที่สนใจเพื่อแจกจ่ายให้คนไข้ในพื้นที่ แต่ไม่สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตอ.เซกาได้มีการจดลิขสิทธิ์แล้ว ส่วนจังหวัดอื่นๆ หรือใครที่สนใจก็สามารถสั่งซื้อได้ที่ โรงพยาบาลเซกา อ.เซกา จ.บึงกาฬในราคาอันละ 750 บาทสามารถจัดส่งให้ได้ทั่วประเทศ
นายภูดิศ เล่าว่านวัตกรรมนี้ถือเป็นความภูมิใจที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของผู้ป่วย ญาติ ผู้ดูแล อสม.โรงพยาบาล ตลอดจนองค์กรต่างๆ ที่ช่วยกันค้ำจุนดูแลส่งเสริมซึ่งกันและกันจนทำให้ ประสบความสำเร็จ และนอกจากจะช่วยให้คนไข้ติดเตียงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับคนไข้ ช่วยลดปริมาณขยะที่ย่อยสลายได้ยากแล้วยังได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นสำหรับคนพิการระดับอาเซียนด้วย
- 762 views