“ที่นอนป้องกันแผลกดทับ รพ.เซกา” นวัตกรรมยอดเยี่ยมด้านการแพทย์ คว้า 44 รางวัล ประดิษฐ์จากถุงน้ำยาล้างไต ขยะใช้เวลาย่อยสลาย 200 ปี ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หายขาดจากแผลกดทับ แถมช่วยสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้ชุมชน พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชุมชนภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ช่วยผู้ป่วยติดเตียงเข้าถึงอุปกรณ์คุณภาพ ราคาประหยัด รองรับสังคมผู้สูงอายุ
ด้วยผลงานที่ได้รับถึง 44 รางวัล ไม่ว่าจะเป็น รางวัลชนะเลิศนวัตกรรมผู้พิการอาเซียน รางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมของกระทรวงสาธารณสุข รางวัล R2R ระดับประเทศของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เป็นต้น นับเป็นการการันตีผลงานนวัตกรรมชิ้นยอด ไม่เพียงแต่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้ อย่างถุงน้ำยาล้างไตผ่านช่องท้องที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ แต่ยังเกิดจากการรวมคิดของคนในชุมชน จนส่งผลให้ “ที่นอนป้องกันแผลกดทับ” ของ “โรงพยาบาลเซกา” กลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถช่วยผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง
นายภูดิศ สะวิคามิน
นายภูดิศ สะวิคามิน นักกายภาพบำบัด โรงพยาบาลเซกา จังหวัดบึงกาฬ ได้เล่าย้อนถึงที่มาของจุดเริ่มต้นนวัตกรรม “ที่นอนป้องกันแผลกดทับ” ว่า ในช่วงแรกที่เข้ามาทำงานที่โรงพยาบาลเซกา พบว่ามีผู้ป่วยผู้พิการติดเตียงจำนวนมาก โดยมีถึง 470 ราย ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าจะมีแผลกดทับและมักกลายเป็นแผลเรื้อรังที่นำไปสู่การติดเชื้อ ส่งผลให้ที่นี่มีผู้ป่วยติดเตียงเสียชีวิต 2 รายต่อเดือน จึงคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนยากจน รายได้น้อย และการที่จะซื้ออุปกรณ์เพื่อลดภาวะแผลกดทับอย่างเตียงลมไฟฟ้าคงไม่ได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็ไม่มีงบประมาณในการสนับสนุน เนื่องจากมีราคาแพงมาก
ในช่วงแรกในการแก้ไขปัญหานั้น จึงได้ทำการระดมทุน โดยขอการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำเงินมาซื้อเตียงลมไฟฟ้าให้กับผู้ป่วย ซึ่งสามารถรวบรวมเงินเพื่อจัดซื้อได้ทั้งหมด 30 เตียง ตกราคาเตียงละ 4,700 บาท เพื่อนำมากระจายให้กับผู้ป่วยติดเตียงในอำเภอ ปรากฎว่าพอผ่านไป 1 เดือน เตียงลมไฟฟ้าที่จัดซื้อไปนี้เสียทั้งหมด ไม่สามารถใช้งานได้ และที่สำคัญคือไม่สามารถซ่อมได้ นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยบางรายได้นำเตียงลมไฟฟ้าที่ได้รับมาส่งคืนให้กับโรงพยาบาล เนื่องจากนอนแล้วทำให้ผู้ป่วยรู้สึกร้อน แถมยังเปลืองค่าไฟฟ้าอย่างมาก ซึ่งผู้ป่วยบางรายมีฐานะยากจนไม่มีรายได้เพียงพอที่จะแบกรับค่าไฟฟ้านี้ได้ และนี่เป็นจุดเริ่มต้น ทำให้คิดว่าจะมีวิธีใดบ้างที่จะช่วยดูแลและลดปัญหาแผลกดทับให้กับผู้ป่วยได้
ขณะเดียวกันจากที่ได้ลงพื้นที่พบผู้ป่วยตามบ้านและในชุมชนต่างๆ พบว่า ที่ อ.เซกามีผู้ป่วยที่รับการล้างไตผ่านหน้าท้องจำนวนมาก ทำให้มีปัญหาขยะถุงน้ำยาล้างไตภายหลังจากที่ผู้ป่วยได้ทำการล้างไตผ่านช่องท้องแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านจะใช้วิธีเผาทิ้งและขุดหลุมฝัง แต่ก็ยังถือเป็นขยะสิ่งแวดล้อม เพราะถุงน้ำยาล้างไตนี้ผลิตจากพลาสติกที่มีลักษณะคล้ายซิลิโคนนุ่ม มีความเหนียวมาก ทำให้ทำลายได้ยาก แถมกว่าที่จะย่อยสลายได้ต้องใช้เวลาถึง 200 ปี มากกว่าการย่อยสลายของพลาสติกทั่วไปที่ใช้เวลา 20 ปี ดังนั้นจึงคิดว่าจะนำถุงน้ำยาล้างไตมาทำอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยติดเตียงได้ ดังนั้นจึงได้ร่วมกับชุมชนในการจัดประกวดงานประดิษฐ์จากถุงน้ำยาล้างไตในการช่วยลดแผลกดทับผู้ป่วย
“นวัตกรรมชิ้นนี้เราให้ชาวบ้านช่วยกันคิด โดยเราไม่ได้คิดก่อน ซึ่งมีการนำเสนอนวัตกรรมที่หลากหลายกว่า 20 รูปแบบเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ให้กับผู้ป่วย มีทั้งที่นำมาทำเป็นหมอน ทำเป็นที่นอนสมุนไพรด้วยการยัดสมุนไพรไว้ภายในถุงน้ำยาล้างไต แต่ที่น่าสนใจมากที่สุดคือการทำเป็นที่นอนลมซึ่งคล้ายกับเตียงลม และได้นำมาเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดจนได้รูปแบบที่นอนป้องกันแผลกดทับในปัจจุบัน โดยก่อนหน้านี้ได้นำไปทดลองใช้กับผู้ป่วยแล้ว ซึ่งจากการติดตามผลในช่วง 2 ปี ปรากฎว่าสามารถช่วยลดแผลกดทับของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิผล” นายภูดิศ กล่าวและว่า ที่นอนทำจากถุงซิลิโคนเป่าลมนั้น สามารถช่วยลดแผลกดทับได้ เพราะเวลาผู้ป่วยนอนจะช่วยกระจายแรงของจุดกดทับไปยังส่วนอื่นหมด ไม่ลงน้ำหนักไปยังจุดใดจุดหนึ่ง อีกทั้งเวลาผู้ป่วยหายใจหรือนอนพลิกตัวก็จะส่งแรงไปยังส่วนอื่นๆ โดยมีลมที่อยู่ในถุงซิลิโคนเป็นตัวรองรับและกระจายแรง
ส่วนการพัฒนารูปแบบที่นอนลดแผลกดทับนี้ นายภูดิศ กล่าวว่า รุ่นแรกทำเป็นเตียงนอนขนาด 5 ฟุต โดยเย็บรวมเป็นผ้าผืนเดียวกันทั้งหมดด้วยการใช้ผ้าเพียง 2 ชิ้นเย็บประกบ แต่ผู้ป่วยนอนแล้วบอกว่าทรงตัวได้ยากและลูกจากที่นอนก็มีช่องว่างถุงซิลิโคนที่แยกออกจากกันอีก ดังนั้นจึงได้คิดรูปแบบต่างๆ และทดลองทำ ซึ่งจากการที่ชุมชนเราเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ป่วยติดเตียงที่ใช้ที่นอนนี้เอง ทำให้ทราบจุดที่บกพร่อง และได้ปรับแก้เป็นวิธีการเย็บโดยเพิ่มการเย็บลิ้นระหว่างถุงซิลิโคนจนได้ขนาดที่พอดี ซึ่งนอกจากถุงซิโลนไม่ดิ้นออกจากกันแล้ว ยังสามารถดึงถุงซิลิโคนออกจากที่นอนตรงบริเวณที่เป็นแผลจุดกดทับได้ ซึ่งจะทำให้แผลไม่ถูกสัมผัสและมีอากาศผ่านทำให้แผลหลายเร็วขึ้น ช่วยลดการล้างแผลเหลือเพียงสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น และรูปแบบนี้ได้กลายเป็นรุ่นมาตรฐานอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
“นวัตกรรมชิ้นนี้เราเริ่มผลิตขึ้นเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว และจากการติดตามที่นอนลดแผลกดทับที่ผลิตขึ้นในช่วงปีแรกซึ่งได้แจกจ่ายให้กับผู้ป่วย พบว่าปัจจุบันผู้ป่วยยังใช้ที่นอนดังกล่าวอยู่เลย ที่นอนยังใช้ได้อยู่ เพียงแต่ผ้าหุ้มที่นอนอาจเก่าและเปื้อนไปตามสภาพ แต่ภายในถุงซิลิโคนที่เป็นวัสดุข้างในยังใช้ได้ไม่เป็นปัญหา ยังคงทนเหมือนเดิม โดยเราได้นำที่นอนที่ผลิตขึ้นใหม่ไปเปลี่ยนให้กับผู้ป่วย”
นายภูดิศ กล่าวว่า หลังจากที่ผลงานนวัตกรรมที่นอนลดแผลกดทับได้เผยแพร่สู่สาธารณะ ปรากฎว่าได้รับการตอบรับอย่างมาก มีการสั่งซื้อจากทั่วประเทศ โดยในช่วง 2 ปีมานี้ ได้จำหน่ายไปแล้ว 2,000 ชิ้น เฉพาะภายในงานตลาดนัดนวัตกรรมการแพทย์ ซึ่งจัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ผ่านมา ได้มีการสั่งซื้อเข้ามาถึง 700 ชิ้นแล้ว ซึ่งยอมรับว่าชาวบ้านชุมชนผลิตไม่ทัน ดังนั้นจึงเตรียมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังชุมชนตามภาคต่างๆ เพื่อช่วยผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ ให้ผู้ป่วยได้ใช้ โดยเฉพาะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีผู้ป่วยติดเตียงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้นวัตกรรมที่ชาวชุมชนเซกากันกันคิดนี้ไม่ได้หวังผลกำไร แต่มุ่งให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยมากกว่า
นอกจากนี้ยังมีการขยายแนวความคิดในการนำถุงน้ำยาล้างไตไปผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อใช้ประโยชน์เพิ่มเติม อาทิ หมอนหนุนพนักเก้าอี้สำหรับคนทำงานออฟฟิต หรืออุปกรณ์ป้องกันเด็กจมน้ำ โดยทำเป็นบอลลูนหรือห่วงยางและนำไปไว้ตามแหล่งน้ำต่างๆ ที่เด็กมักชอบลงไปเล่นน้ำ เพราะป็นวัสดุที่ทนแดดทนฝนได้ดี เป็นต้น
จากที่นวัตกรรมทางการแพทย์ชิ้นนี้ที่สามารถช่วยผู้ป่วยติดเตียงลดปัญหาแผลกดทับได้จริง นายภูดิศ กล่าวว่า ทำให้อุปกรณ์ชิ้นนี้ เมื่อโรงพยาบาลสั่งจ่ายให้กับผู้ป่วยจะสามารถเบิกคืนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ 1,000 บาท โดยสิ่งที่เกิดขึ้นนี้นับเป็นความภูมิใจที่ได้ช่วยทำให้ผู้ป่วยติดเตียงเข้าถึงอุปกรณ์การแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยประหยัดงบประมาณ เมื่อเปรียบเทียบกับราคาเตียงลมไฟฟ้า ประหยัดค่าไฟฟ้า และประหยัดค่ารักษาในการดูแลผู้ป่วยแผลกดทับ ขณะเดียวกันยังเป็นสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนใช้ชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือจากจุดเล็กๆ นี้ ได้นำไปสู่การขยายองค์ความรู้ที่สร้างประโยชน์ให้ประเทศได้
ผู้สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ รพ.เซกา จ.บึงกาฬ โทร. 042-489099 และ 042 489699
- 781 views