ความหวาดวิตกขยายตัวไปทั่วทั้งแวดวงสุขภาพ ภายหลังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ยา เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้สำเร็จ
นั่นเพราะ “สาระสำคัญ” ที่ปรับแก้ในกฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดช่องให้บุคคลที่ไม่ใช่เภสัชกรสามารถจ่ายยาอันตรายได้ หรือแม้แต่การเปิดไฟเขียวให้สามารถนำยาที่ได้รับการรับรองมาผสมกันเป็นจ่ายให้ผู้ป่วยเป็นการเฉพาะรายได้ จะนำมาซึ่ง “ความเสี่ยง” ด้านสุขภาพระดับสูงสุด
อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้กฎหมายยาที่ใช้อยู่คือ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ซึ่งต้องยอมรับว่า “ล้าหลัง” สถานการณ์จริงไปเฉียดๆ 50 ปี และถึงแม้ว่าเคยมีการปรับแก้มาแล้ว 4 ครั้ง แต่ก็เป็นเพียงรายละเอียดยิบย่อย
ความจำเป็นในการแก้ไขจึงมีอยู่ หากแต่ต้องเป็นไปในทิศทางที่ถูกควร สำนักข่าว Health Focus ขอนำเสนอรายงานพิเศษเจาะลึกปัญหา พ.ร.บ.ยา ฉบับเดิม และปัญหาของร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับที่กำลังพิจารณาในสนช.ขณะนี้ 3 ตอน ดังนี้
ตอนที่ 1
ข้อมูลจาก แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายไว้ว่า พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยยาที่ใช้บังคับในปัจจุบัน มีการแก้ไขปรับปรุง 4 ครั้ง คือ ในปี 2518 ปี 2522 ปี 2527 และปี 2530 แต่ค่อนข้างจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
อาทิ การปรับโครงสร้างหน้าที่ของส่วนราชการ องค์ประกอบคณะกรรมการ หน้าที่ผู้รับอนุญาต อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ การประกันคุณภาพยา วิธีการควบคุมคุณภาพและการโฆษณาขายยา เพิ่มเรื่องให้มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติการประจำร้านยาอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อวัน (ในปัจจุบันต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำตลอดเวลาที่เปิดทำการ) เรื่องการขายส่ง เพิ่มเรื่องการห้ามขายยาชุด เพิ่มเติมเรื่องการผลิตยาแผนโบราณโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ปรับปรุงเรื่องการอนุญาตและการควบคุมการผลิต การขาย การนำเข้า หรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร ปรับปรุงเรื่องการถอนทะเบียนตำรับยา การขออนุญาตโฆษณา และการแก้ไขเพิ่มเติมนิยามต่างๆ
จะเห็นได้ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านมานั้น “ไม่ได้แก้ไขในประเด็นหลัก” ทำให้บทบัญญัติหลายส่วนไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านยาที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยี องค์ความรู้ด้านยา การขยายตัวทางการค้าและอุตสาหกรรมเกี่ยวกับยาและการรักษาผู้ป่วย การเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งยาเป็นหนึ่งในสินค้าสำคัญที่จะถูกกดดัน ต่อรอง ขาดความทันสมัยไม่สอดคล้องกับระบบสากล ขาดการสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศอย่างยั่งยืน
อีกทั้ง ยังไม่เอื้อให้การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความเป็นธรรม และสมประโยชน์ตามสิทธิที่ผู้บริโภคพึงได้รับ ผู้บริโภคต้องกินต้องใช้ยาแพง ไม่มีการชดเชยเมื่อได้รับความเสียหาย ขาดการควบคุม กำกับการโฆษณายาและการส่งเสริมการขายยา โดยเฉพาะในสื่อใหม่ๆ เช่น อินเทอร์เน็ต ทีวีดาวเทียม ทำให้มียาที่ไม่ปลอดภัย ประเภท ‘ยาผีบอก’ แพร่ระบาดไปทั่ว หลายครั้งหลายหนเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคอีกด้วย
“ข้อบกพร่อง” อีกประการของพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ก็คือไม่มีเรื่องของการวางนโยบายแห่งชาติด้านยา หรือไม่ได้กำหนดให้เป็นบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการยา ซึ่งนโยบายแห่งชาติด้านยามีความสำคัญในการกำหนดเป้าหมายและทิศทางการทำงานร่วมกันของหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อจัดการปัญหายาและให้มีการพัฒนาระบบยาอย่างต่อเนื่อง
เป็นเหตุให้ในปี 2554 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ให้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ การพัฒนานโยบายแห่งชาติด้านยา และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2554-2559
ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของระบบยา คือ “ประชาชนเข้าถึงยาถ้วนหน้า ใช้ยามีเหตุผล ประเทศพึ่งตนเอง”
สำหรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ กำหนดไว้ 4 ด้าน ได้แก่ 1.การเข้าถึงยา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาที่จำเป็นอย่างเสมอภาค ทั่วถึงและทันการณ์ ในราคาที่เหมาะสมกับความสามารถในการจ่ายของประชาชนและสภาพเศรษฐกิจของประเทศ 2.การใช้ยาอย่างสมเหตุผล เพื่อส่งเสริมการใช้ยาของแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนให้เป็นไปอย่างสมเหตุผล ถูกต้อง และคุ้มค่า
3.การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตยา ชีววัตถุ และสมุนไพร เพื่อให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน 4.การพัฒนาศักยภาพและสร้างเสริมความเข้มแข็งของระบบการควบคุมยาของประเทศ เพื่อประกันคุณภาพ ประสิทธิผลและความปลอดภัยของยา
สำหรับความล้าหลังของ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 กระทบโดยตรงกับการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายไม่เอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ เนื่องจาก พ.ร.บ.ยา ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมใช้มาอย่างยาวนาน ไม่มีการปรับปรุงในส่วนเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่มีบูรณาการกฎหมายระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ไม่ทันต่อการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด ซึ่งใช้เทคโนโลยีหรือช่องทางที่หลากหลายซับซ้อนยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ค่าธรรมเนียมและค่าปรับต่างๆ ก็ไม่สอดคล้องและไม่เหมาะสมกับค่าเงินและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงควรเพิ่มค่าธรรมเนียมให้สูงขึ้น เพื่อรัฐจะได้ใช้เงินจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ประเมิน ติดตามตรวจสอบ ส่วนค่าปรับบางรายการก็ต่ำเกินไป ผู้กระทำผิดก็เลยไม่กลัว และกล้าที่จะทำ
ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการปรับปรุงหรือแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับยา เพื่อให้มีความสอดคล้องกับนโยบายแห่งชาติด้านยาและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติดังกล่าว
โปรดติดตาม พ.ร.บ.ยาล้าหลัง ต้องแก้ !!? ตอนที่ 2 ในวันที่ 13 ก.ย.นี้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- 15 views