“เภสัชกรขอนแก่น” หวั่นร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับลับลวงพราง เปิดช่องเพิ่ม “ร้านยา ขย.2 พันธุ์ใหม่” ส่งผลเสียวงกว้าง เพิ่มปัญหาใช้ยาไม่สมเหตุสมผล พร้อมปัดแก้ไขปรับปรุงชั้นกฤษฎีกา เหตุไม่ไว้วางใจหลังถูกเพิ่มเนื้อหา เสนอเริ่มต้นกระบวนร่างกฎหมายใหม่ เน้นการมีส่วนร่วมองค์กรวิชาชีพเกี่ยวข้องและองค์กรคุ้มครองคุ้มครองผู้บริโภค
18 ต.ค. 61 ที่ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น เครือข่ายเภสัชกรขอนแก่นยื่นหนังสือเสนอนายกรัฐมนตรี ให้ถอดร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... ออกจากการพิจารณาของ ครม.
ภก.เผ่าพงศ์ เหลืองรัตนา แกนนำเครือข่ายเภสัชกรจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากที่ทางเครือข่ายเภสัชกรฯ ได้เห็นทิศทางการร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ มีการปรับและเปลี่ยนแปลงเป็นหลายฉบับ โดยฉบับสุดท้ายซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ.ยา ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อสอบถามความเห็นนั้น ได้ปรากฏเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงทำให้เกิดร้านยา ขย.2 ประเภทใหม่ขึ้น ซึ่งร้านยา ขย.2 เป็นร้านยาที่เกิดขึ้นก่อน 40 ปีที่แล้ว โดยกฎหมายอนุญาตให้เปิดขายยาโดยเจ้าของร้านยาเป็นผู้เข้ารับการอบรมเรื่องยา เพื่อประวิงเวลาในช่วงรอเวลาการผลิตวิชาชีพเภสัชกรให้มีจำนวนเพียงพอ และเพิ่มจำนวนร้านยา ขย.1 ที่มีเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยาเพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้รับบริการ
ปัจจุบันมีความเห็นตรงกันว่าร้านยา ขย.2 ต้องทยอยหมดไปจากระบบ เนื่องจากผู้ที่ขอใบอนุญาตเปิดร้านยา ขย.2 ในอดีตเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ขณะนี้อายุน่าจะอยู่ที่ประมาณ 60-70 ปี แต่ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่นี้กลับเปิดช่องให้สามารถเปิดร้าน ขย.2 เพิ่มได้
จากสถานการณ์สุ่มเสี่ยงดังกล่าวทางเครือข่ายเภสัชกรฯ จึงเรียกร้องให้ ครม.และกระทรวงสาธารณสุขที่จะผลักดันออกกฎหมายนี้ให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับดังกล่าวออกมาก่อน และให้มีการเริ่มต้นร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ โดยมีองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคร่วมร่างกฎหมายใหม่ ยอมรับว่าขณะนี้เราต่างเป็นห่วงเนื่องจากมีความเร่งรีบเพื่อให้มีกฎหมายฉบับนี้ออกมาโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นด้วยสัญญาณทางการเมือง การเปลี่ยนรัฐบาลโดยการเลือกตั้ง หรือความต้องการออกกฎหมายฉบับนี้โดย อย.เองเพื่อส่งเสริมการทำงานของ อย. แต่ด้วยเนื้อหาที่อาจทำให้เกิดผลเสียตามมมาได้ จึงเสนอให้ถอนร่างกฎหมายออกมาก่อน
ต่อข้อซักถามว่า ตามกระบวนการขณะนี้ยังสามารถถอนร่างกฎหมายออกมาได้หรือไม่ และมองอย่างไรที่มีข้อเสนอให้แก้ไขปรับปรุงในชั้นกฤษฎีกาแทน ภก.เผ่าพงศ์ กล่าวว่า การแก้ไขในชั้นกฤษฎีกาฟังแล้วเหมือนจะดูดี แต่ด้วยร่าง พ.ร.บ.ยา ที่มีการจัดทำร่างกฎหมายหลายฉบับ ทั้งยังมีเนื้อหาที่สลับเปลี่ยนไปมา จนในวงวิชาชีพเภสัชกรระบุว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับลับลวงพราง ที่ต้องคอยจับตาทุกขั้นตอนการออกกฎหมายของ อย. แม้กระทั่งร่างที่ส่งเข้าสำนักเลขาธิการ ครม.ก็ยังเป็นปัญหา ดังนั้นหากเข้าสู่ชั้นกฤษฎีกาและกระบวนการพิจารณากฎหมายสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เราก็ยิ่งไม่แน่ใจ เพราะเนื้อหาอาจไม่เป็นไปตามที่ได้สรุปกันไว้ ดังนั้นจึงขอให้มีการถอนร่างกฎหมายออกมาก่อน
“ก่อนหน้านี้มีประเด็นร่าง พ.ร.บ.ยา ที่เพิ่มเติมให้วิชาชีพอื่นร่วมจ่ายยาได้ ซึ่งมีเสียงคัดค้านเป็นวงกว้าง กระทั่ง รมว.สาธารณสุขได้ให้เลขาธิการ อย.หารือร่วมกับองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อได้ข้อสรุป และทาง อย.ได้นำกลับไปปรับปรุง แต่ภายหลังไปเพิ่มเติมเนื้อหาร้านยา ขย.2 อีกทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกระบวนการออกกฎหมายของ อย. ที่ผ่านมาจึงได้ยื่นหนังสือไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น และได้สำเนาถึงนายกรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ยับยั้งกระบวนการออกกฎหมายฉบับนี้ก่อน” แกนนำเครือข่ายเภสัชกรจังหวัดขอนแก่น กล่าวและย้ำว่า ที่ผ่านมาเราไม่เห็นความจริงใจของ อย.ในการแก้ไข พ.ร.บ.ยา ให้เป็นไปตามข้อตกลง ที่เน้นการสร้างความปลอดภัยด้านการใช้ยาให้กับประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก อย.ไม่ถอนร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้ และยังคงเดินหน้าต่อไปทางเครือข่ายจะดำเนินการอย่างไร ภก.เผ่าพงศ์ กล่าวว่า ทางเครือข่ายเภสัชกรฯ คงมีกระบวนการเพื่อแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนมากขึ้น ส่วนวิธีการอย่างไรนั้นคงต้องดูสถานการณ์ก่อน อาจมีการเคลื่อนขบวนคัดค้านหรือใช้วิธีแสดงทางสัญลักษณ์ โดยทางเครือข่ายจะมีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
ภก.เผ่าพงศ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เราเป็นห่วงอย่างยิ่งคือจะทำให้เกิดร้านยา ขย.2 พันธุ์ใหม่ และสิ่งที่เครือข่ายเภสัชกรห่วงคือปัญหาที่ตามมาทั้งการใช้ยาฟุ่มเฟือย การใช้ยาไม่สมเหตุสมผล เพราะแม้แต่การควบคุมร้านยา ขย.2 ตาม พ.ร.บ.ยาปัจจุบันยังหละหลวม ขาดการติดตามควบคุมที่ชัดเจน และหากปล่อยให้มีร้านยา ขย.2 พันธุ์ใหม่จะยิ่งทำให้ปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุสมผลเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบในการผลัดกัน พ.ร.บ.ยาฉบับนี้ ให้ถอนร่างกฎหมายนี้ออกมาและเริ่มต้นกันใหม่ โดยเน้นการส่วนร่วมร่าง มีการเปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอนในการร่างกฎหมายเพื่อให้กฎหมายที่ออกมาเกิดประโยชน์และไม่ส่งผลกระทบตามมาในภายหลัง
- 8 views