ขอนแก่นชง 2 โมเดลกระจายคนไข้ไปรับยาที่ร้านยาช่วยโรงพยาบาลลดความแออัด โมเดลแรกโรงพยาบาลแพ็คยาส่งร้านยาแล้วให้คนไข้ไปรับ โมเดลต่อมาคือกระจายคลังยาเบาหวาน ความดันไว้ที่ร้านยาเลยแล้วให้คนไข้ถือใบสั่งยาแพทย์ไปรับ ชี้คนไข้ลดเวลารอคอยที่โรงพยาบาล ร้านยาได้ให้บริการทางวิชาชีพนอกเหนือจากทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว
รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม
รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้ผลักดันโครงการนำร่องระบบเติมยาผู้ป่วยโดยร้านยาคุณภาพและร้านยาที่มีเภสัชกรประจำ เปิดเผยว่า จากการทดลองนำร่องระบบเติมยาผู้ป่วยเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลขอนแก่นและลดระยะเวลารอคอยของผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ 30 ร้าน และมีคนไข้ที่สมัครใจไปรับยาที่ร้านยา 137 ราย สามารถสรุปรูปแบบโครงการได้ 2 โมเดล คือ 1.โครงการรับยาใกล้บ้าน โมเดลนี้ยาจะถูกตรวจสอบโดยเภสัชกร จัดแพ็คยาแล้วส่งจากโรงพยาบาลขอนแก่นมาที่ร้านยาในเครือข่าย เมื่อยามาถึงร้าน เภสัชกรร้านยาจะตรวจสอบอีกครั้งว่ามีปัญหาหรือความคลาดเคลื่อนหรือไม่ ถ้าไม่มีปัญหา ก็จะจ่ายยาและให้คำแนะนำการใช้ยาแก่คนไข้ต่อไป
2.การกระจายยาจากโรงพยาบาลมาสต๊อกที่ร้านยา โดยโรงพยาบาลจะส่งคนไข้ที่มีอาการคงที่แล้วใน 3 โรค มารับยาที่ร้านขายยา สามารถนำใบสั่งยามารับยาที่ร้านยาได้เลย เภสัชกรจะตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นให้ เช่น วัดความดัน ผู้ป่วยในกรณีนี้หมอจะนัดตรวจติดอาการ 6 เดือนครั้ง หรือปีละครั้ง เป็นต้น โดยโมเดลนี้มีรายการยาที่ถูกกำหนดโดยโรงพยาบาลประมาณ 70 รายการ ครอบคลุมโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง
รศ.ภญ.สุณี กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของโมเดลที่ 1 สามารถทำในเคสที่ผู้ป่วยอาการคงที่หรือไม่คงที่ก็ได้ ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องตรวจกับแพทย์แล้วไปรับยาที่ร้านยา แต่ถ้าคนไข้อาการคงที่ แพทย์อาจให้ยาในจำนวนเดือนที่มากขึ้นแล้วให้มาเติมยาที่ร้านก็ได้ เพราะฉะนั้นโมเดลนี้สามารถทำได้ทั้งการรับยาใกล้บ้านและการเติมยา ส่วนโมเดลที่ 2 ถ้าเป็นไปได้ควรเป็นคนไข้ที่อาการคงที่แล้ว เพราะถ้าคนไข้อาการไม่คงที่ บางครั้งจำเป็นต้องได้รับยาด่วน และแพทย์ต้องดูแลก่อน ซึ่งหลังจากนั้นยาที่ได้อาจไม่ใช่ยาเดิม ดังนั้นโมเดลนี้คนไข้ควรมีอาการคงที่ในระดับหนึ่ง
รศ.ภญ.สุณี กล่าวอีกว่า ในส่วนของร้านยา สิ่งที่ได้คือได้เติมเต็มระบบสุขภาพให้ครอบคลุมการเข้าถึงของประชาชน โดยเฉพาะการบริบาลทางเภสัชกรรม ซึ่งในโรงพยาบาลพอมีผู้ป่วยมาก เภสัชกรอาจไม่มีเวลาดูแล แต่ที่ร้านยาจะมีเวลาพูดคุยมากจนคนไข้ไว้วางใจ ดังนั้นร้านยาจะช่วยตรงนี้ได้เยอะ นอกจากนี้ยังได้ทำบทบาทบริการทางวิชาชีพของตัวเองในฐานะเภสัชกร ไม่ใช่แค่ธุรกิจเพียงอย่างเดียว และการได้ดูแลคนไข้และทำได้ดี สิ่งต่างๆก็จะตอบแทนกลับมา เช่น ได้ลูกค้ามากขึ้นจากการบอกต่อๆกัน เป็นต้น
ภก.เผ่าพงศ์ เหลืองรัตนา
ด้าน ภก.เผ่าพงศ์ เหลืองรัตนา แกนนำชมรมเภสัชกรร้อยแก่นสารสินธุ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์การทดลองโมเดลเหล่านี้พบว่าช่วยลดระยะเวลารอคอยที่โรงพยาบาล อีกทั้งร้านยาทำให้คนไข้มีความสบายใจที่จะบอกเล่าข้อมูลมากกว่าที่ห้องยาโรงพยาบาลหรือตอนพบแพทย์ คนไข้บางคนอาจจะลืมกินยา ใช้ยาผิดพลาดบ้าง บางคนมีการใช้ยาสมุนไพรร่วม ซึ่งข้อมูลพวกนี้คนไข้อาจไม่กล้าเปิดเผยกับบุคลากรสาธารณสุขแต่มาคุยในร้านยาได้ บางครั้งยาที่คนไข้ไปซื้อมาทานเองอาจตีกันกับยาตามใบสั่งแพทย์ เภสัชกรก็จะช่วยตรวจสอบตรงนี้เพื่อให้คนไข้ปลอดภัยมากที่สุด
ขณะเดียวกันยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านยาของโรงพยาบาลอีกทางหนึ่ง เพราะมีบางเคสที่เจอคือลืมกินยาแต่ไม่กล้าบอกหมอ พอไปพบแพทย์ก็ได้ยาชุดใหม่มาอีก สุดท้ายเหลือยาค้างเต็มบ้าน เภสัชกรรู้ข้อมูลก็ตรวจสอบยาเหล่านี้ว่ายังใช้ได้หรือไม่แล้วเก็บคืนส่วนที่เกินกลับให้โรงพยาบาล ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้โรงพยาบาลได้อีกส่วนหนึ่ง
- 220 views