อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มข. แนะ โครงการรับยาใกล้บ้าน โรงพยาบาลและร้านยาต้องมองภาพระบบยาให้เชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกัน อย่าให้เกิดรอยต่อของความไม่เข้าใจกัน ชี้การดำเนินงานในช่วงแรกอาจมีอุปสรรคบ้างแต่เชื่อว่าไม่เกิน 3 เดือนระบบงานต่างๆจะเป็นรูปธรรมและไหลลื่นมากขึ้น ชี้ไม่ใช่แค่เรื่องลดแออัดใน รพ. แต่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เภสัชกรช่วยคนไข้ได้ ทั้งดูแลเรื่องยา คัดกรอง ปรับพฤติกรรม
รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม
รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหนึ่งในผู้ผลักดันโครงการรับยาใกล้บ้านซึ่งกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำลังจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการวันที่ 1 ต.ค. 2562 นี้ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้เริ่มนำร่องโครงการนี้มาหลายปี ตนมีข้อเสนอแนะต่อโรงพยาบาลและร้านยาที่เข้ามามีส่วนร่วมว่า อยากให้โรงพยาบาลและร้านยามองว่าโครงการนี้เป็นการทำงานที่เสริมกัน ไม่ใช่แค่โรงพยาบาลจัดส่งยาไปที่ร้านยาแล้วร้านยาส่งมอบต่อคนไข้ แต่ต้องมองภาพการทำงานโดยเฉพาะระบบยาให้เชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกันเพื่อที่จะส่งมอบยาไปถึงประชาชนโดยปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น เวลาโรงพยาบาลจัดยาของคนไข้แล้วส่งออกมาข้างนอก เภสัชกรร้านยาก็ต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งในการตรวจสอบอาจจะพบความคลาดเคลื่อนบ้าง อยากให้มองตรงนี้เป็นการทำงานเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้เกิดรอยต่อของความไม่เข้าใจกัน
"มันไม่ใช่แค่เรื่องการลดความแออัดในโรงพยาบาลนะ ส่วนตัวมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำระบบยาให้ดี เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เภสัชกรได้ช่วยคนไข้ได้อีกเยอะ ทั้งการดูแลเรื่องยา การคัดกรองความเสี่ยง การให้คำแนะนำการปรับพฤติกรรม ฯลฯ ซึ่งตรงนี้มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการทำงานคุณภาพในการจัดการการใช้ยาได้ดีขึ้นเท่านั้น" รศ.ภญ.สุณี กล่าว
รศ.ภญ.สุณี กล่าวอีกว่า ด้วยเงื่อนไขเวลาที่กำหนดไว้วันที่ 1 ต.ค. 2562 ทำให้ต้องเร่งกระบวนการเตรียมการต่างๆ ซึ่งที่หลายส่วนกำลังยุ่งอยู่ตอนนี้คือการขึ้นทะเบียนและตรวจสอบร้านยาแต่ละร้าน และภายในโรงพยาบาลก็คุยกันเรื่องระบบงาน การประชาสัมพันธ์ต่างๆอยู่ ในบางพื้นที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินโครงการนี้ก็ต้องเรียนรู้กันในพื้นที่ เพราะฉะนั้นการทำงานเชื่อมกันก็คงต้องใช้เวลาคุยเรื่องรายละเอียดเยอะพอสมควร เพราะนอกจากระบบการส่งยาแล้ว ยังมีเรื่องระบบข้อมูลที่ทำอย่างไรให้เภสัชกรดูแลคนไข้ได้ดีขึ้น รายละเอียดประเภทคนไข้ที่แพทย์มั่นใจว่าอาการคงที่สามารถไปรับยาที่ร้านยาได้ จะเห็นได้ว่ามองผิวเผินเหมือนง่ายแต่ความซับซ้อนของระบบยาก็มีพอสมควรโดยเฉพาะในช่วงแรกอาจมีอุปสรรคบ้าง แต่จากประสบการณ์ที่ตนทำงานมา คิดว่าประมาณไม่เกิน 3 เดือนระบบงานน่าจะเห็นเป็นรูปธรรมและไหลลื่นมากขึ้น
"เป้าหมายเบื้องต้นมีโรงพยาบาลเข้าร่วม 50 แห่ง และร้านยาอีก 500 แห่ง ส่วนตัวคิดว่ามีความเป็นไปได้เพราะร้านยาในไทยมีตั้ง 10,000 กว่าร้าน 50 โรงพยาบาลก็เท่ากับจังหวัดหนึ่งมี 10 ร้านยา คิดว่าเป็นไปได้ โดยเฉพาะในเมืองมีความแออัดและมีร้านยาจำนวนหนึ่งที่เป็นร้านยาคุณภาพเพื่อช่วยในส่วนนี้ได้" รศ.ภญ.สุณี กล่าว
รศ.ภญ.สุณี ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงพี่น้องเภสัชกรที่เข้าร่วมโครงการนี้ว่าโครงการนี้เป็นโอกาสที่เภสัชกรจะได้ดูแลคนไข้ได้ดีขึ้น จากเดิมแค่ซักประวัติแล้วจ่ายยา แต่ต่อไปนี้เภสัชกรจะเข้าใจโรคของผู้ป่วยมากขึ้นและสามารถให้การบริบาลคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อยากให้กำลังใจว่าเรากำลังทำสิ่งที่ดี เป็นการพลิกกระบวนทัศน์ของประเทศว่าการดูแลต่อไปนี้ไม่ใช่แค่โรงพยาบาลอย่างเดียว ร้านยาก็เป็นหนึ่งในระบบสุขภาพที่แม้ไม่ใหญ่นักแต่ก็ช่วยเติมเต็มระบบสาธารณสุขให้สมบูรณ์มากขึ้น เภสัชกรต้องเห็นคุณค่าของตัวเองและทำงานนี้ไม่ให้ประชาชนผิดหวังในตัวเรา
- 94 views