จากงานประชุมวิชาการวิจัยระบบสุขภาพ ประจำปี 2557 “วิจัย...เปลี่ยนชีวิต” จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เสนอแนวทางงานวิจัยสุขภาพของประเทศไทย เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนในอนาคต
นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า งานวิจัยถือว่ามีความสำคัญและจำเป็น โดยต้องมุ่งตอบสนองปัญหาสุขภาพประชาชน สามารถนำไปใช้ประโยชน์และจับต้องได้จริง ไม่ใช่วิจัยแล้วนำไปวางอยู่บนหิ้ง ซึ่งหัวใจของการวิจัยคือการตั้งโจทย์ ก่อนที่จะได้โจทย์เราก็ต้องรู้จักปัญหา ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหาก็อยู่ที่บริบทของสิ่งแวดล้อม และในเร็วๆ นี้เมื่อประเทศไทยจะเปิดประชาคมอาเซียนเรารู้ปัญหาอยู่แล้วคือ อาจมีแพทย์ พยาบาลไม่พอ นี่คือสิ่งที่ต้องวิจัย ระบบสุขภาพต้องตอบสนองบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นเราจำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้าว่าอีก 3-5 ปี จะเกิดอะไรขึ้น แล้วก็ออกแบบการวิจัยในที่ควรจะเป็น
ทางด้าน รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (TRC-HS) เสนอว่า ทิศทางการวิจัยในอนาคต ควรเป็นเรื่องระบบบริการสุขภาพแบบ AEC ยกกำลัง 2 คือ Accessible การเข้าถึง Effective เรื่องประสิทธิผลในการตอบโจทย์สุขภาพ และ Cost effective คุ้มค่าหรือไม่ และแค่นี้ยังไม่พอ ต้องตอบเรื่อง Accountability การทำให้คนรู้ว่าต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบสุขภาพ เพื่อการดำเนินการได้อย่างเป็นธรรม และต้องมี Competitive สามารถแข่งขันได้ ซึ่งแม้แต่บริการสาธารณสุขของรัฐก็ต้องแข่งขันได้ในสายตาประชาชน เพราะถ้าแข่งขันไม่ได้ ประชาชนอาจเลือกเส้นทางที่ไม่เหมาะสมในการดูแลสุขภาพ
เช่นเดียวกับ ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สุขภาพคนไทยร่วมสร้างมิติใหม่ในอาเซียน” โดยเสนอว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนควรกำหนดยุทธศาสตร์เรื่องสุขภาพโดยให้ความสำคัญกับการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆในระบบสุขภาพ เพราะเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นหลายเท่า นอกเหนือไปกว่าการตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพของประชาชน เห็นได้ว่าประเทศที่เจริญแล้วให้ความสำคัญกับเรื่อง “สุขภาพ” เพราะมีความเกี่ยวข้องกับชีวิต ทั้งนี้ เมื่อมีเงินเข้ามาจากนวัตกรรมที่พัฒนา เราก็ใช้เงินส่วนนี้ไปช่วยเรื่องการเข้าถึงบริการและความเหลื่อมล้ำได้อีกมาก
- 3 views