หมอณรงค์เผยหารือผู้บริหารสธ.เพื่อทำข้อเสนอต่อรมว.สธ. และรมช.สธ.แล้ว ได้ข้อสรุปเดินหน้าปฏิรูปเขตสุขภาพ กระจายอำนาจให้เขตผ่านบอร์ด ส่วนอนาคตสธ.จะเป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายสุขภาพระดับชาติ เสนอบริหารงบประมาณระดับเขต ยืนยันข้อเสนอเดิมเปลี่ยนจัดสรรงบรายหัวเหลือ 4 หมวด ลดเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนบุคลากรทั้งภายในวิชาชีพและระหว่างวิชาชีพ ซึ่งจะพิจารณาทั้งพีฟอร์พี และเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย
10 ก.ย.57 เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการประชุมวิชาการสาธารณสุขครั้งที่ 22 ประจำปี 2557 หัวข้อ "สร้างสรรค์วิชาการ เพื่อการปฏิรูประบบสาธารณสุข" ว่า นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ.จะเข้ากระทรวงทางการในวันที่ 13 ก.ย. นี้ ซึ่งตนได้หารือกับผู้บริหาร สธ. ในการจัดทำข้อเสนอต่อ รมว.สธ. และรมช.สธ. ได้ข้อสรุป 16 ข้อ โดยมี 4 เรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการคือ
1. การสร้างธรรมาภิบาลใน สธ.ให้โปร่งใสมากขึ้น โดยเฉพาะใน 2 เรื่อง คือ การจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งขณะนี้กำลังทบทวนระเบียบการจัดซื้อ จัดจ้าง และเกณฑ์จริยธรรม รวมทั้งระบบการจัดซื้อจัดจ้างให้เปิดเผย และเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงให้มีความเป็นธรรม โปร่งใส นอกจากนี้ยังวางระบบให้เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เครือข่ายพยาบาล และเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ให้เข้ามาเป็นกลไกการตรวจสอบระบบธรรมาภิบาลภายใน สธ. ด้วย
2.เรื่องขวัญกำลังใจสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ต้องมีการจัดทำกรอบอัตรากำลังให้สอดคล้องกับภาระงาน และประชากร เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการบริหารบุคคล ส่วนเรื่องค่าตอบแทน จะต้องลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพ และภายในวิชาชีพ ซึ่งจะพิจารณาระบบการจ่ายเงินค่าตอบแทนตามภาระงาน (พีฟอร์พี) เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย
3. เรื่องการปฏิรูปเขตสุขภาพ (Service Plan) เพื่อบริหารจัดการทรัพยากร และการให้บริการภายในเขตร่วมกัน ซึ่งตรงกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ก็เห็นชอบ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) เป็นผู้ดำเนินการ และในอนาคต สธ.จะเป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายสุขภาพระดับชาติ ส่วนการให้บริการจะกระจายอำนาจไปไว้ที่เขตสุขภาพ ที่จะทำงานผ่านบอร์ด ขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒาระบบราชการ(กพร.) ในเรื่ององค์ประกอบของบอร์ดจะต้องมีสัดส่วนทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และประชาชน
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ข้อเสนอที่ 4 เรื่องระบบการเงินการคลัง ซึ่งภาพรวมมีอยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบของ สธ. 1 แสนล้านบาท สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 1 แสนล้านบาท ซึ่งในอนาคตอยากเห็นการบริหารจัดการงบประมาณ โดยเขตสุขภาพ เพื่อให้งบประมาณสอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่จริง ทั้งนี้ในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัวของกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รพ.ในสังกัด จะได้รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวจากกองทุนฯ ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท แต่ล่าสุดสธ. มีข้อเสนอต่อบอร์ด สปสช. อยากให้กระจายงบประมาณ 4 หมวด คือ หมวดส่งเสริมป้องกันโรคให้กับสถานบริการระดับอำเภอ บริหารจัดการทั้งหมด หมวดงบผู้ป่วยนอก ให้อยู่ที่ระดับจังหวัด หมวดงบผู้ป่วยในและหมวดงบเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการรับบริการสาธารณสุขตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ให้ไว้ที่เขตสุขภาพ
"ช่วงเดือนที่ผ่านมาผมมีโอกาสหารือกับ นพ.รัชตะ ในหลักการของเรื่องดังกล่าวแล้ว เรายืนยันว่าจะเดินหน้าเรื่องเขตสุขภาพต่อไป นอกจากนี้ จะผลักดันการบริการปฐมภูมิในรพ.ส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการใกล้บ้าน และรับบริการดีที่สุด" ปลัด สธ.กล่าว
- 2 views