เป็นเวลา 1 ปีมาแล้ว ที่กระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าเขตบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดยตั้งเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น โดยรวมการบริหารจัดการในระดับเขต ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยระบบสุขภาพ (สวรส.) หน้าที่ศึกษาวิจัย ข้อดี ข้อเสียของการแบ่งเขตสุขภาพ ก่อนที่จะได้นำไปปฏิบัติจริง เพื่อให้การดำเนินงานปฏิรูประบบสุขภาพของไทยได้ก่อประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการแผนงานวิจัย และรอง ผอ.ฝ่ายบริหาร สวรส. กล่าวถึงที่มาที่ไปของการแบ่งเขตบริการสุขภาพว่า สวรส.มีหน้าที่และบทบาทในการศึกษาวิจัยเรื่องของการแบ่งเขตบริการสุขภาพ ซึ่งจากเดิมเราใช้คำว่า "เขตสุขภาพ" ไม่ใช่ "เขตบริการสุขภาพ" เหมือนทุกวันนี้ โดยมีจำนวนประชากรเป็นตัวกำหนด แบ่งเป็นทั้งหมด 12 เขต และมี กทม.เป็นเขตที่ 13 เริ่มต้นจำนวนประชากรที่ 3-6 ล้านคน 1 เขตจะมี 8 จังหวัด น้อยสุดมี 4 จังหวัด ยกเว้น กทม.ที่เป็น 1 เขต 1 จังหวัด จะมีการเรียกชื่อเขตบริการสุขภาพ เป็นคำที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะเป็นการปรับการทำงานให้เป็นหนึ่งเดียวระหว่าง สธ. ผู้ที่กำหนดนโยบายหลัก และ สปสช. ผู้ถืองบประมาณ ให้มีความสอดคล้องกัน ซึ่งในความจริงในต่างประเทศมีการแบ่งพื้นที่เขตสุขภาพมาก่อนประเทศไทย ทั้งสองหน่วยงานมีจุดหมายการทำงานเดียวกันคือ ยึดประโยนชน์ของประชาชนหลัก โดยมี SERVICE PLAN เป็นเครื่องมือในการทำงาน 10 ด้านด้วยกัน เช่น หัวใจและหลอดเลือด ทารกแรกเกิด งานด้านจิตเวช เป็นต้น
ทั้งนี้ในการแบ่งเขตสุขภาพนั้น สวรส. ได้ระบุไว้ว่า จะต้องมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ จะต้องมีการประสานงานที่ดี และมีเจ้าหน้าที่เพียงพอ โดยมีผู้บริหารเขตหรือคณะกรรมการมาจากตัวแทนทุกภาคส่วน ทั้ง สธ. สปสช. ท้องถิ่น และภาคประชาชน แต่ในความเป็นจริงที่ผ่านมา 1 ปี ผู้บริหาร สธ.ขอให้ผู้บริหารเขตสุขภาพเป็นคนของ สธ.ทั้งหมด ซึ่งหลังจากนี้ไปต้องจับตามองกันว่า ทุกภาคส่วนจะได้มีส่วนร่วมในการบริหารเขตบริการสุขภาพของพวกเขาหรือไม่ ? และการบริหารงานจะครอบคลุมทั้ง 3 มิติตามงานวิจัยในเบื้องต้นหรือไม่ ?
การแบ่งเขตบริการสุขภาพนี้มีข้อดีคือ เป็นการกระจายอำนาจลงสู่ภูมิภาค ส่งผลให้มีการบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็ว ส่วนข้อเสียในวันนี้ คือ ขาดบุคลากร ยังไม่มีกฎหมายรองรับ และการบริหารงานยังไม่ชัดเจน
ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวว่า ขณะเดียวกันความขัดแย้งของผู้บริหาร สธ.และ สปสช.ตามที่เป็นข่าวนั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยกันว่า กันแบ่งเขตบริการสุขภาพในครั้งนี้มีประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของทีม นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ในโครงการศึกษาเพื่อการพัฒนาการจัดการระบบสุขภาพในระดับเขต โดยสรุปพบว่า การเปลี่ยนแปลงของผู้บริหาร สธ.ในครั้งนี้มีนัยยะแอบแฝงหรือไม่ มีการผลักดันเรื่องงบประมาณที่ สปสช.เป็นผู้ดูแล ให้เป็นไปในทิศทางที่ สธ.ต้องการ ขณะที่ผู้บริหารส่วนภูมิภาคของ สธ. ยังมีช่องว่างการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
"ผู้ใหญ่ 2 ฝ่ายทะเลาะกัน คนภายนอกมองว่า มีผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงาน แต่ในทางปฏิบัติพบว่า ไม่มีผลกระทบ เพราะผู้ที่ปฏิบัติงานยังสามารถพูดคุย และประสานงงานกันได้ ตัวอย่างเช่น เขต 8 อุดรธานี ทั้งสำนักงานเขตของสปสช. และสำนักงานเขตของสธ. ปัจจุบันเป็นเขตเดียวที่ประสบความสำเร็จในการทำงานของทุกฝ่าย และยังสามารถดึงภาคเอกชนมาร่วมในการทำงานได้อีกด้วย"
ส่วนที่มีกระแสข่าวออกมาว่า สธ.ต้องการจะดึงงบประมาณจาก สปสช.ไปดูแลเองนั้น ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณ นพ.สงวน นิตยารัมพงศ์ ผู้ริเริ่มการก่อตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ที่มีความรอบคอบ ทำให้หน่วยงานและการทำงานของ สปสช.มีกฎหมายรองรับ ซึ่งในอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะต้องมีการแก้กฎหมายเท่านั้น
"ทาง สวรส.เองนั้นคงต้องจับตาดูกันว่า เมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ของการแบ่งเขตบริการสุขภาพ ผู้บริหารสธ.จะทำตามที่ขอไว้หรือไม่ จะมีการกระจายอำนาจได้จริงหรือไม่ และทุกภาคส่วนจะได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ของเขาหรือไม่ ทั้งนี้อยากให้ทุกฝ่ายยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก จะดีที่สุด" รอง ผอ.ฝ่ายบริหาร สวรส. กล่าวสรุป
- 38 views