ไม่คืบ ! แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ ‘ขรก.บรรจุก่อนหลัง-ไม่นับอายุงานพกส.’ รองปลัด สธ. เผย ก.พ.ยังไม่ตอบกลับการแก้ไขหนังสือเวียนปี 56 ที่ออกหลักเกณฑ์แปลก ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มข้าราชการที่บรรจุไปแล้ว และรอบที่กำลังจะบรรจุต่อไป ทั้งเรื่องค่าตอบแทน และการไม่นับรวมอายุงานตอนเป็นพกส.ด้านพกส.-ข้าราชการรุ่นพี่ รอดูท่าที เตรียมขยับหากสิ้นเดือนยังไร้คำตอบ
สืบเนื่องจากหนังสือเวียนของสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เลขที่ นร 1008.1/154 ลงวันที่ 6 มิ.ย. 2556 ที่ให้สิทธิข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่บรรจุหลังวันที่ 11 ธ.ค.2555 นับรวมอายุงานตั้งแต่เป็นลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานราชการ เพื่อประโยชน์ในการเลื่อนระดับชำนาญการ และมีสิทธิในการขึ้นเงินเดือนได้ ในขณะที่ข้าราชการที่บรรจุก่อนวันที่ 11 ธ.ค. 2555 และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ที่เพิ่งปรับการจ้างงานจากลูกจ้างชั่วคราวมานี้จะไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพขึ้นนั้น
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์
7 ก.ย.57 นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสธ. กล่าวว่า ที่จริงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากหนังสือเวียนฉบับนี้มี 1 กลุ่มคือ กลุ่มข้าราชการที่บรรจุก่อนวันที่ 11 ธ.ค.2555 และ กลุ่ม พกส. ซึ่งเป็นรูปแบบการจ้างงานที่เกิดขึ้นหลังจากหนังสือเวียนดังกล่าวออกมา อย่างไรก็ตาม ทาง สธ.ได้ทำการอุทธรณ์ ก.พ.ไปหลายรอบแล้วเพื่อให้แก้ไขไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ โดยในส่วนของกลุ่มข้าราชการที่บรรจุก่อนวันที่ 11 ธ.ค.2555 ก.พ.ไม่อนุมัติ แต่ สธ.ก็ได้ทำเรื่องอุทธรณ์กลับไปอีกครั้งหนึ่งแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ เช่นเดียวกันกับกลุ่ม พกส. ที่ยังไม่ได้ให้คำตอบกลับมาตั้งแต่รอบแรก
นายเอกชัย ฝาใต้
ขณะที่ นายเอกชัย ฝาใต้ กรรมการสภาการพยาบาล กล่าวว่า เนื่องจากรัฐบาลชุดนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติการจ้างงานกระทรวงสาธารณสุขจากลูกจ้างชั่วคราวมาเป็น พกส.กว่า 80% แต่กลับมีปัญหาว่า ก.พ.ไม่ยอมรับ โดยเห็นว่าหลักเกณฑ์การจ้างงานแบบนี้ไม่มีความชัดเจน จึงไม่อนุมัติให้ใช้สิทธิประโยชน์ นร.154 ในการนับรวมอายุงานต่อเนื่องเพื่อการทำชำนาญการเมื่อบรรจุเป็นข้าราชการได้ แม้จะเป็น พกส.มา 5 ปี ถ้าได้รับการบรรจุข้าราชการก็ต้องเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ ไม่ได้นับรวมอายุงานในช่วงเป็นพกส. ในขณะที่ลูกจ้างชั่วคราวสามารถนับอายุงานต่อเนื่องเพื่อทำชำนาญการได้เลย
“ที่ผ่านมาประเด็นนี้กระทรวงทำเรื่องไป ก.พ. 2 รอบ แต่ ก.พ.ปฏิเสธกลับมาบอกว่าพกส.ไม่มีความชัดเจน เลยไม่อนุญาตให้นับเวลาเพื่อรับสิทธิตรงนี้ น้องๆ ที่บรรจุใหม่เลยโวย เพราะเขามองว่า พกส.เป็นนโยบายกระทรวงทำให้เขาต้องเสียสิทธิตรงนี้ ดังนั้นกระทรวงต้องเร่งจัดการตรงนี้ด้วย” นายเอกชัย กล่าวและว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างหนังสือเพื่อทวงถามความคืบหน้าการแก้ปัญหาเรื่องนี้ต่อ สธ.และ ก.พ. ภายในเดือนนี้แน่นอน
ด้าน นายธนภัทร ศรีชุม ประธานกลุ่มข้าราชการต้องการความยุติธรรม กล่าวว่า ตอนนี้เราได้รับหนังสือตอบกลับจากสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือน ส.ค.ว่าได้สั่งการให้ สธ.และ ก.พ.ร่วมกันแก้ปัญหา แต่ยังไม่นิ่งนอนใจ จึงส่งหนังสือคัดค้านและหารือไปที่ ก.พ.ที่ไม่เยียวยาให้กลุ่มข้าราชการ โดยมีข้อสังเกตดังนี้ 1.อยากทราบว่า ก.พ.ใช้กฎหมายหรือหลักเกณฑ์อะไรในการแบ่งข้าราชการ 2 กลุ่ม 2.ในเมื่อเกิดปัญหาแล้ว ก.พ.จะแก้ปัญหาอย่างไร และ 3. ก.พ. ได้ยื่นเรื่อง หรือรายงานไปยัง คสช. หรือสำนักนายกรัฐมนตรีหรือยัง แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ ดังนั้นทางเรากำลังหารือกันว่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างไรภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ คงขยับในรูปแบบของแกนนำ หรือไม่ก็เป็นระดับมวลชน
นายธนภัทร กล่าว่า ซึ่งตามที่ ก.พ.ชี้แจงมาว่าให้เป็นไปตามกฎหมายประจำ ดังนั้นขณะนี้ทางกลุ่มข้าราชการอยู่ระหว่างการเร่งศึกษาข้อกฎหมายที่กล่าวมา ตั้งแต่พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนปี 25656 และหนังสือเงินเดือนตามคุณวุฒิ ว่าเกี่ยวข้องอะไรหรือไม่ อย่างเช่นกรณีหลักเกณฑ์ไปตามคุณวุฒินั้นก็ระบุชัดเจนว่ามีค่าปัจจัยซึ่งเป็นการบรรจุแบบเดิม แต่อยู่ๆ นร.154 ที่กำหนดให้น้องๆ มีเงินเดือนสูงกว่าแบบก้าวกระโดดนั้นเป็นมาอย่างไร ทั้งนี้คิดว่าหนังสือที่ขอหารือไปน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด แต่ขณะนี้เองคิดว่าอำนาจในการเยียวยาเรื่องนี้น่าจะเหนืออำนาจคณะรัฐมนตรีแล้ว
“การที่รัฐกระทำอย่างนี้ทำให้ข้าราชการไม่มีขวัญกำลังใจ ถึงแม้จะบอกว่าเน้นการสร้างประสิทธิภาพแต่ลึกๆ นั้นคือขวัญและกำลังใจมันไม่ได้ เราเคลื่อนไหวลำบากเพราะเราเป็นข้าราชการ สังคมมุ่งหวังว่าเราเป็นข้าราชการ เรื่องค่าตอบแทนไม่ควรพูดถึง แต่ความยุติธรรมในสังคมแม้แต่ในระบบราชการยังไม่มี ถ้าเรายอมแพ้ แล้วประชาชนที่พึ่งระบบราชการจะเป็นอย่างไร ตอนนี้มันมากกว่าค่าตอบแทน มันเป็นศักดิ์ศรี เป็นความยุติธรรมในสังคม เรามองกันอย่างนั้น” นายธนภัทร กล่าว และว่าตอนนี้เรารณรงค์ในพื้นที่ให้แต่งดำในพื้นที่ทุกวันอังคารและวันศุกร์
- 47 views