ภายใต้ทรัพยากรด้านการส่งเสริมสุขภาพและการรักษาพยาบาลของประเทศที่จำกัด ทั้งงบประมาณและบุคลากร จำเป็นต้องใช้รูปแบบการบริหารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่เพียงแต่ให้การดูแลประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึงแล้ว ยังต้องมีคุณภาพ ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงได้นำรูปแบบการรวมศูนย์การจัดการทรัพยากรในระดับเขตมาใช้ในการบริหาร โดยใช้ชื่อ “เขตสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข”
ตามนโยบาย “เขตสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข” ได้แบ่งพื้นที่เพื่อบริหารจัดการออกเป็น 12 เขต และได้เริ่มดำเนินการไปแล้วในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ด้วยพื้นที่เขต 8 ซึ่งเป็นเขตได้วางแผนดำเนินการและโครงสร้างการจัดการที่ชัดเจน ส่งผลให้การดำเนินงานเขตสุขภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล ได้รับการยอมรับทั้งภายในกระทรวงสาธารณสุขเอง รวมไปถึงนักวิชาการที่ติดตามศึกษาวิจัยตั้งแต่นโยบาย กระบวนการ ไปจนถึงการปฏิบัติที่ได้ผลเป็นรูปธรรม
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตบริการสุขภาพที่ 8 กล่าวว่า ทรัพยากรทั้งในด้านงบประมาณและบุคลากรเพื่อใช้ดำเนินงานด้านการรักษาพยาบาล เขตบริการสุขภาพที่ 8 นับเป็นพื้นที่ซึ่งมีทรัพยากรจำกัดที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเขตบริการสุขภาพอื่นๆ การรวมจัดการระดับเขตจึงเป็นกลยุทธ์การบริหารที่สำคัญอย่างยิ่ง ทั้งยังมีประสิทธิภาพเพื่อให้การดูแลประชากรในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ 1.จังหวัดอุดรธานี 2.จังหวัดสกลนคร 3.จังหวัดนครพนม 4.จังหวัดเลย 5.จังหวัดหนองบัวลำภู 6.จังหวัดหนองคาย และ 7.จังหวัดบึงกาฬ รวมประชากรกว่า 5.4 ล้านคน เป็นไปอย่างทั่วถึง โดยดำเนินการภายใต้นโยบาย ““R 8 WAY” ซึ่งเป็นการรวมวิถีการทำงานของแต่ละจังหวัดเพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
การดำเนินนโยบาย “R 8 WAY” มีเป้าหมายการทำงานที่สำคัญ 4 ประการ คือ 1.การเข้าถึง (Access) 2.คุณภาพ (Quality) 3. ประสิทธิภาพ (Efficiency) และ 4.ไร้รอยต่อ (Seamless) เป็นการทำให้ผู้ป่วยในพื้นที่เข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ เป็นการเชื่อมต่อการบริการของหน่วยบริการในพื้นที่ทั้ง 7 จังหวัดเข้าด้วยกัน แบบไร้ตะเข็บจังหวัดด้วยการบริหารที่รวมเป็นหนึ่งเดียว และได้ขับเคลื่อนผ่านกระบวนการ 4 P เพื่อไปยังเป้าหมายที่กำหนดข้างต้น ได้แก่ 1.การวางแผน (Planing) 2.การเตรียมบุคลากร (People) 3.การเตรียมกระบวนการ (Process) และ 4.การลงมือปฏิบัติ (Performance) เพื่อผลักดันงาน 7 ด้าน( 7 Building Blocks) ได้แก่ กิจกรรมการให้บริการ, การพัฒนาบุคลากร, ระบบข้อมูลสารสนเทศ, ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ, การเงินการคลัง, นโยบายและการบริหาร และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
นพ.พงศธร อธิบายต่อถึงการดำเนินงานว่า ในกระบวนการขับเคลื่อน 4 P ได้เริ่มต้นจากการสังเคราะห์ปัญหาในพื้นที่ก่อนที่จะลงมือวางแผน โดยมีการกำหนดงานที่เขตจะต้องดำเนินการ เบื้องต้นนำร่อง 15 แผนงาน โดยในขั้นตอนนี้ทุกจังหวัดจะต้องเข้ามีส่วนร่วมกำหนดแผนที่จะนำร่องโดยการร่วมพิจารณาว่าเรื่องใดจะนำเข้ามาบรรจุในแผน นับเป็นกลยุทธ์สำคัญของการทำงานร่วมกันที่นำไปสู่การบริหารงานแบบไร้ขอบเขต สำหรับ 15 แผนงานนำร่องที่ทาง 7 จังหวัดได้ร่วมกันคัดเลือก แยกเป็นแผนงานเชิงรุก 5 ด้าน ได้แก่ อนามัยแม่และเด็ก, อุบัติเหตุและการแพทย์ฉุกเฉิน, เบาหวานความดัน ไต, หัวใจและหลอดเลือด และมะเร็งท่อน้ำดี แผนงานเชิงรับ 5 ด้าน ได้แก่ ส่งต่อนอกเขต, จักษุ, สุขภาพจิต, การดูแลผู้สูงอายุระยาว และทันตกรรม และแผนงานสนับสนุนเพื่อให้ระบบยั่งยืน 5 ด้าน ได้แก่ การเงินการคลัง, การจัดซื้อรวม, รพ.สต./คปสอ.ติดดาว, Hospital accreditation และ Information system
ต่อจากนั้นเป็นขั้นการจัดเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลเพื่อตอบสนองต่อ 15 แผนงานนำร่องที่ได้กำหนดไว้ นอกจากการส่งคนเข้าเรียนในหลักสูตรที่เป็นที่ต้องการแล้ว ทางเขต 8 ยังได้ออกแบบจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเอง โดยร่วมกับวิทยาลัยในพื้นที่ มีทั้งหลักสูตรการเรียนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยหลักสูตรระยะ 3-6 เดือน อาทิ พยาบาลผู้ป่วยจิตเวช, วิสัญญีพยาบาล, พยาบาลผู้ป่วยวิกฤติ, พยาบาลบำบัดทดแทนทางไต, พยาบาลเวชปฏิบัติครอบครัว และพยาบาลเพื่อดูแลผู้สูงอายุระยะยาว นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรระยะสั้นที่อบรม 3-4 วัน อาทิ พยาบาลมะเร็ง พยาบาลหัวใจและหลอดเลือด การให้เคมีบำบัด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจัดทำหลักสูตรการบริหารองค์กรสำหรับผู้บริหารโดยร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อพัฒนาศัยภาพผู้นำในอนาคต
“การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรนับเป็นส่วนสำคัญ เพราะการขยายบริการในด้านต่างๆ จำเป็นต้องมีบุคลากรที่เพียงพอ ซึ่งในกรณีของการผลิตจากส่วนกลางอาจล่าช้า ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการผลิตบุคลากรในพื้นที่เอง ทั้งยังทำให้ตรงกับความต้องการในพื้นที่”
ต่อมาเป็นในเรื่องของกระบวนการผลักดันดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ ขั้นตอนนี้ใช้หลักบริหารง่ายๆ ด้วยการดำเนินงานในรูปแบบบริษัทเอกชน โดยสำนักงานเขตบริการสุขภาพที่ 8 จะเป็นบริษัทแม่ที่คอยกำหนดนโยบาย ทิศทาง และทำหน้าที่ประเมินเท่านั้น ส่วนการดำเนินงานแผนงานนำร่องจะมอบหมายให้บริษัทลูก ซึ่งในที่นี้คือ 7 จังหวัดที่อยู่ภายใต้สำนักงานเขตบริการสุขภาพที่ 8 เป็นผู้ดำเนินงานและรับผิดชอบในแต่ละด้าน พร้อมโอนงบดำเนินการไปให้ อย่างเช่น อนามัยแม่และเด็กมอบให้จังหวัดสกลนครเป็นเจ้าภาพ, เบาหวาน ความดัน ไต มอบให้จังหวัดหนองคาย, หัวใจและละลายลิ่มเลือดมอบให้จังหวัดอุดรธานี และ งานสุขภาพจิตมอบให้จังหวัดเลยเป็นเจ้าภาพเป็นต้น ซึ่งแต่ละจังหวัดจะทำหน้าที่ในการผลักดันเพื่อให้งานระดับเขตบรรลุเป้าหมาย
“กระบวนการนี้นับว่าเป็นหัวใจสำคัญ เพราะการให้แต่ละจังหวัดร่วมรับผิดชอบงานในแต่ละด้าน ทำให้ต่างเป็นแม่ข่ายผลักดันและดำเนินงานในแต่ละเรื่อง และต่างมีบทบาทและความสำคัญเท่ากัน มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ส่งผลให้ 15แผนงานนำร่องถูกผลักดันออกไปพร้อมกันอย่างมีประสิทธิภาพ”
นพ.พงศธร กล่าวว่า สุดท้ายเป็นขั้นตอนดำเนินการ โดยมีการตั้งเป้าหมายดำเนินงานแต่ละด้านเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา เช่น การกำหนดเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยในหน่วยบริการ การพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการเพื่อดูแลอนามัยแม่และเด็ก การเพิ่มหน่วยบริการผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องจากเดิมที่มีเพียง 6 แห่ง เพิ่มเป็น 15 แห่ง การเพิ่มเครื่องล้างไตจากเดิมมีเพียง 8 เครื่องต่อผู้ป่วยแสนราย เป็น 96 เครื่อง การเพิ่มหน่วยบริการในการรักษาผู้ป่วยหัวใจและหลอดเลือดสมอง การผ่าตัดผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี และการผ่าตัดตาต้อกระจก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลการส่งต่อผู้ป่วยที่ช่วยลดการส่งต่อผู้ป่วยออกนอกเขต ทั้งนี้จากการดำเนินงานตามแผน R 8 Way ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก
“ผลงานในช่วง 1 ปีที่เด่นชัด ได้แก่ งานจิตเวช แต่เดิมพื้นที่เขต 8 มีปัญหาอย่างมาก โดยการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยจิตเวชของเขต 8 ถูกจัดอยู่อันดับท้ายๆ ของการดำเนินงานทั้งประเทศ แต่หลังจากที่ได้จัดทำแผน R 8 Way ปรากฎว่าสามารถเพิ่งการบริการทำให้ผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น โดยภายใน 1 ปีสามารถขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 4 ของประเทศ เช่นเดียวกับการพัฒนาหน่วยบริการเพื่อให้ได้มาตรฐานระดับ HA โดยในปี 2558 นี้ เขต 8 จะมีจำนวนหน่วยบริการที่ได้รับ HA ขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 1 ของประเทศ” นพ.พงศธร กล่าวและว่า นอกจากนี้ผลงานที่ชัดเจนคือการลดส่งต่อผู้ป่วยออกนอกเขตบริการได้ถึง 65% ภายใน 1 ปี จาก 26,016 ราย ในปี 2556 เหลือ 8,854 ราย ในปี 2557 ช่วยประหยัดงบประมาณในการตามจ่าย
นพ.พงศธร กล่าวต่อว่า สำหรับแผน R 8 Way ที่ทางเขต 8 ดำเนินการอยู่นี้ พื้นที่อื่นๆ สามารถนำไปปรับใช้เพื่อดำเนินการได้ เพราะด้วยรูปแบบโครงสร้างกระบวนการที่ชัดเจน อีกทั้งพื้นที่เขต 8 นับเป็นพื้นที่ที่ขาดแคลนทรัพยากรมากที่สุดยังสามารถจัดการได้ ดังนั้นพื้นที่อื่นก็น่าจะดำเนินการประสบผลสำเร็จได้เช่นกัน
ทั้งนี้จากงานวิจัยประเมินผลการดำเนินงานเขตบริการสุขภาพ โดยสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) พบว่าปัจจัยที่ส่งผลให้เขตบริการสุขภาพที่ 8 ประสบความสำเร็จ คือ ภาวะผู้นำ (leadership), การมีเป้าหมายร่วมและยุทธศาสตร์ชัดเจน, การมีส่วนรวมของทุกภาคส่วนในการดำเนินงาน, การติดตาม กำกับ สนับสนุนรอบด้านอย่างสม่ำเสมอ และถ่ายทอดนโยบายสู่ผู้ปฏิบัติทั่วถึงทุกระดับ ประทับใจ เหล่านี้นำมาสู่การลดระยะเวลารอคอย การลดต้นทุนค่าใช้จ่าย การลดภาวะแทรกซ้อน และการลดอัตราตาย ที่เป็นปัญหาสำคัญในระบบบริการสุขภาพในขณะนี้.
- 195 views