นสพ.มติชน : "มาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ระบุชัดว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ..." หมายความว่า คนไทยทุกคนต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างเท่าเทียม
แม้ประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพครอบคลุมคนไทยทั้งประเทศ ภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง แต่ยังมีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข เพียงเพราะติดกรอบที่ว่า"ไม่มีสัญชาติไทย"
คนกลุ่มนี้ถือผลักให้ไปอยู่ในกลุ่มที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ต้องรอการพิสูจน์สถานะและสัญชาติ จึงเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขพื้นฐาน ทั้งๆ ที่พวกเขาก็เป็นคนไทยเช่นกัน
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข อธิบายว่า ต้องแยกออกจากกันให้ชัด เนื่องจากแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน และการดูแลด้านสุขภาพย่อมแตกต่างกันด้วย โดยกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ คือ คนไทยแต่ไม่ได้สิทธิ ไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน อาจมาจากการตกสำรวจ เป็นชนกลุ่มน้อยที่อพยพย้ายถิ่นเข้าไทยมานาน รวมไปถึงลูกหลานของคนกลุ่มนี้ โดยตัวเลขตั้งแต่แรกเริ่มที่มีการสำรวจพบว่าคนกลุ่มนี้มีกว่า 600,000 คน ซึ่งขณะนั้นได้มีการผลักดันนโยบายเข้าถึงสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุขเป็นเวลากว่า 5 ปี ผ่านความรับผิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาหลายสมัย
กระทั่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ให้จัดตั้ง "กองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขสำหรับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ" โดยให้จำนวน 457,409 คน และตั้งงบประมาณในการดำเนินการอยู่ที่ 472 ล้านบาท ซึ่งยังเหลือบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ยังไม่ได้อีกกว่า 2 แสนคน เนื่องจากต้องมีการสำรวจทางทะเบียนให้ชัดเจนที่สุด จนในปี 2554 จึงสำรวจแล้วว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนไทยจริงๆ และอยู่ระหว่างรอเลข 13 หลัก ดังนั้น จำเป็นต้องให้พวกเขาได้เข้ากองทุนคืนสิทธิด้วย ซึ่งมีความพยายามขับเคลื่อนกลุ่มที่เหลืออีก 2 แสนคนมาตลอด กระทั่งรัฐบาลยุคนี้นับเป็นเวลาเกือบ 5 ปี ที่รอคอยว่า พวกเขาจะได้รับสิทธิรักษาพยาบาลหรือไม่
ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการ สธ. และรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. บอกว่า จะมีการผลักดันเรื่องนี้ โดยฝั่ง สธ.จะมีการเสนอข้อมูลขอขยายเพิ่มจำนวนกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเข้าสู่กองทุนคืนสิทธิเพิ่มเป็น 285,171 คน แบ่งเป็น 1.กลุ่มบุคคลที่กระทรวงมหาดไทยได้ขึ้นทะเบียนไว้ มีกลุ่มชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาในไทย 150,076 คน รวมทั้งบุตรของบุคคลกลุ่มนี้อีก 56,672 คน และกลุ่มบุคคลที่ขึ้นทะเบียนไว้ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาฯ ซึ่งระบุว่าเป็นคนไทยแต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ เพราะขาดหลักฐาน กระทรวงมหาดไทยจึงขึ้นทะเบียนไว้ก่อนอีก 1,883 คน โดยกลุ่มนี้รวมแล้วมี 208,631 คน และ 2.กลุ่มนักเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วและให้สิทธิศึกษา แต่ไม่มีสิทธิด้านสุขภาพอีก 76,540 คน
นพ.พงศธร บอกว่า กลุ่มนักเรียนอีกกว่า 7 หมื่นคน น่าห่วง เนื่องจากเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น และไม่ชัดเจนว่าเป็นลูกของกลุ่มแรกหรือไม่ โดยจะเรียกกลุ่มนักเรียนนี้ว่า คนกลุ่ม G ซึ่งยังมีความสับสนว่าอาจเป็นลูกหลานแรงงานต่างด้าวร่วมด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นโดยหลักกลุ่มแรงงานต่างด้าว หรือแรงงานข้ามชาติ จะมีการ ซื้อบัตรสุขภาพอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบัตรสุขภาพกับกระทรวงแรงงาน หรือการซื้อบัตรสุขภาพกับ สธ. เรื่องนี้จึงอยากให้มีความชัดเจน เพราะหากสุดท้ายเสนอเข้า ครม. เกรงว่าตัวเลขไม่แน่ชัด จะยิ่งทำให้ล่าช้าหรือไม่
จริงๆ แล้วกลุ่มแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งลูกของคนกลุ่มนี้จะมีระบบในการดูแลสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติเฉพาะ ขณะที่ยังมีอีกกลุ่มที่เรียกว่าชาวเขา ชาวกะเหรี่ยง หรือแม้แต่ชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มก็ยังไม่มีเลข 13 หลัก หรือไม่มีเลขบัตรอะไรเลย เรียกว่ายังไม่ได้รับการสำรวจ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีอีกกว่า 1 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ตามชายแดน โดยการดูแลควรมีการจัดตั้งกองทุนควบคุมโรคตามแนวชายแดนขึ้น เพื่อนำงบมาดูแลคนกลุ่มนี้ในแง่ของการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งแต่ละส่วนต้องแยกให้ชัด สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือ 1.ต้องคืนสิทธิให้บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่แน่ชัด คือรวมเป็น 208,631 คน 2.แยกกลุ่มเด็กนักเรียนกว่า 7 หมื่นคน หรือกลุ่ม G ให้ชัดเจนก่อนว่า จำนวนเท่าไรที่เป็นลูกหลานคนรอพิสูจน์สถานะจริงๆ และอีกเท่าไรเป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ซึ่งการดูแลจะมีเรื่องการซื้อบัตรสุขภาพ และ 3.การตั้งกองทุนควบคุมโรคตามแนวชายแดน เป็นต้น
นายวิวัฒน์ ตามี่ เลขานุการเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) 1 ในกลุ่ม 37 องค์กรสาธารณสุขที่ออกมาคัดค้านกรณี สธ.จะเสนอตัวเลขกลุ่มรอพิสูจน์สถานะ น้อยกว่าความเป็นจริง บอกว่า ถึงขณะนี้เมื่อ สธ.มีตัวเลขชัดเจนกว่า 2 แสนคน ก็ขอขอบคุณ และสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยเร็ว
เนื่องจากหากพิจารณาสมัย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ สธ. ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2553 จากนั้นวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 ผลักดันการช่วยเหลือด้านสิทธิสุขภาพให้กับคนกลุ่มนี้เสนอต่อ ครม. จนในวันที่ 23 มีนาคม 2553 ครม.มีมติตั้งกองทุนคืนสิทธิ และให้จำนวนกับคนกลุ่มนี้กว่า 4 แสนคน ถึงจะไม่ครบทั้ง 6 แสนคน แต่ถือเป็นโอกาสที่ดี และมีการทำงานรวดเร็วในระยะเวลาเพียง 2 เดือน ขณะที่ ศ.นพ.รัชตะ และ นพ.สมศักดิ์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายน 2557 จนบัดนี้ 6 เดือนแล้ว แต่ก็ยังคาดหวังว่าจะขับเคลื่อนจนสำเร็จในเร็วๆ นี้
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ยืนยันว่า ขณะนี้ได้มีการเสนอตัวเลขกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะไปแล้ว โดยจำนวนคือ 285,171 คน ซึ่งเคยเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม โดยขั้นตอน รัฐมนตรีว่าการ สธ.ได้เสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และตามกระบวนการจะส่งหนังสือสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทั้งหมดไม่ต้องกังวล ทุกอย่างจะได้รับการพิจารณา และจะต้องมีการขยายกลุ่มนี้เพิ่มในกองทุนคืนสิทธิภายในรัฐบาลชุดนี้แน่นอน นอกจากนี้ ยังได้ยกร่างยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิในบริการสาธารณสุข ของบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อดูแลบุคคลไร้สัญชาติไร้สถานะในภาพรวม เพราะการมียุทธศาสตร์ย่อมเป็นเรื่องดีในการดำเนินการทุกรัฐบาล
เบื้องต้นขอเพียงให้คนไทยที่ยังขาดสิทธิสุขภาพ ได้รับสิทธิก่อนเป็นดีที่สุด เพราะแม้โรงพยาบาลต่างๆ จะให้การรักษา แต่หากถูกต้องตามสิทธิตามระบบแล้ว อะไรก็ง่ายขึ้นกว่าไม่ใช่หรือ !
ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ warunee11@yahoo.com
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 7 มีนาคม 2558
- 24 views