คสช.ไฟเขียวตั้ง “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” หวังพลิกโฉมกลไกจัดการระบบสุขภาพระดับพื้นที่ โดยใช้กลุ่มจังหวัดเป็นฐานการทำงาน เน้นการมีส่วนร่วมตามภารกิจ ตั้งแต่ สธ. สปสช. สสส. สช. โรงเรียนแพทย์ ท้องถิ่น เอกชน ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสุขภาพ เตรียมเปิดเวทีรับฟังความเห็นครั้งแรก 12 ก.ย. ก่อนนำเข้าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปลายปีนี้ คาดเห็นรูปร่างภายในปี 58
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ
2 ก.ย.57 ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แถลงว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า ได้อนุมัติการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชนแล้ว เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ สร้างกลไกแนวนอนในรูปของคณะกรรมการพหุภาคี ทำหน้าที่ 5 ร่วม ได้แก่
(1) ร่วมประสานข้อมูล ภารกิจ และการทำงานของแต่ละองค์กร
(2) ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การทำงานเสริมกัน
(3) ร่วมกำหนดทิศทางการทำงานสู่เป้าหมายเดียวกัน
(4) ร่วมบูรณาการการทำงานในพื้นที่เดียวกัน
(5) ร่วมระดมสรรพกำลัง ทั้งคน วิชาการ งบประมาณ และทรัพยากรอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนงานให้เป็นรูปธรรม ตามภารกิจของแต่ละองค์กร
“เขตสุขภาพประชาชนนี้จะเป็นกลไกรวมแสงเลเซอร์ บูรณาการภารกิจของทุกหน่วยงานและองค์กรต่างๆที่ทำงานด้านสุขภาพในพื้นที่เดียวกันเข้าด้วยกัน (Functional Integration หรือ Area Function Participation) เหมือนเส้นด้ายแนวนอน ร้อยเชื่อมเส้นด้ายแนวตั้งเข้าด้วยกัน คิดด้วยกัน กำหนดทิศทางและทำงานไปทางเดียวกัน หนุนเสริมกัน ไม่ก้าวก่ายกัน ไม่ใช้อำนาจเหนือกัน โดยอาจมีหน่วยเลขานุการกิจร่วมทำหน้าที่บริหารจัดการ อาจมีการใช้กระบวนการพัฒนานโยบายแบบมีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือเชื่อมการทำงานร่วมกัน” นพ.อำพล กล่าว
นพ.อำพล กล่าวต่อว่า กรอบความคิดเบื้องหลังการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน คือความเชื่อมั่นในพลังการทำงานร่วมกันแบบเคียงบ่างเคียงไหล่ สานพลังกัน จะทำให้ทุกฝ่ายทำงานได้ดีและมากขึ้น ต่างจากเดิมที่แยกกันคิด แยกกันทำเป็นเสี่ยงๆ เป็นการอภิบาลระบบสุขภาพแบบเครือข่าย (Governance by network) เน้นการทำงานแบบหุ้นส่วน มีส่วนร่วมการทำงานและเมื่อวันที่ 29 ส.ค. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนารูปแบบการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชนแล้ว โดยองค์ประกอบของคณะทำงานประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สปสช. สสส. สปส. กรมบัญชีกลาง มหาดไทย พม. อบจ. เทศบาล อบต. กทม. โรงเรียนแพทย์ แพทยสภา สภาการพยาบาล สมาคมหมออนามัย รวมไปถึงตัวแทนจากภาคประชาสังคมและเอกชน เข้ามาร่วมคิด ร่วมออกแบบกลไกการทำงานที่เป็นรูปธรรม มีการทำงานทางวิชาการรองรับและเปิดเวทีช่องทางการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยจะเริ่มจัดเวทีแรกซึ่งอยู่ในกระบวนการรับฟังความเห็นเพื่อพัฒนาข้อเสนอนโยบายเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 ในวันที่ 12 ก.ย.57 ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ จากนั้นจะมีเวทีรับฟังความเห็นอีกหลายครั้ง ร่วมกับหลายกลุ่มเครือข่าย จนได้ร่างข้อเสนอสุดท้ายเพื่อนำเข้าไปสู่การพิจารณาของที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 24-26 ธ.ค.57 ต่อไป
"การทำงานครั้งนี้ ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่ายทีมีบทบาทสำคัญในการทำงานด้านสุขภาพ ลดช่องว่างระหว่างกัน ก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ชวนกันคิดและทำสิ่งใหม่ ที่จะนำไปสูสิ่งที่ดีกว่าเดิม โดยใช้กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ คาดว่าในปี 2558 จะมีกลไกเขตสุขภาพเพื่อประชาชนที่เป็นรูปธรรมสามารถลงมือทำงานได้ทันที"นพ.อำพลกล่าว
ทั้งนี้ผู้สนใจต้องการร่วมแสดงความคิดเห็นสามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายเลขานุการคณะทำงานพัฒนารูปแบบการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ e mail :rhb@nationalhealth.or.th หรือ โทร 02 8329076, 02 8329072
- 4 views