ทีมโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาขณะนี้ยังอยู่ใน 4 ประเทศอาฟริกาตะวันตก กรณีที่พบผู้ป่วยที่ประเทศดีอาร์คองโกเป็นการติดเชื้อไวรัสอีโบลาต่างสายพันธุ์ไม่เกี่ยวข้องกับการระบาดใน 4 ประเทศ ยังไม่พบผู้ป่วยนอกทวีปอาฟริกา ส่วนในประเทศไทยสถานการณ์ยังปกติ หญิงวัย 48 ปีที่สถาบันบำราศนราดูร ผลตรวจชัดเจนไม่ใช่โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา อาการปกติ คาดกลับบ้านได้วันนี้
วันนี้ (25 สิงหาคม 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ทีมโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วยนายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา
นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาครั้งนี้ถือเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในทวีปอาฟริกา ขณะนี้ยังคงระบาดในทวีปอาฟริกาด้านตะวันตกใน 3 ประเทศ และ 1 เมือง คือ กินี ไลบีเรีย เซียร์ร่าลีโอน และเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย สำหรับกรณีที่มีข่าวว่าพบผู้ป่วย 2 รายที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of the Congo) หรือดีอาร์คองโก ซึ่งอยู่ในแถบอาฟริกากลาง จากการตรวจสอบข่าวในเบื้องต้น ทราบว่าผลการตรวจเชื้อเชื่อว่าเกิดจากเชื้อไวรัสคนละสายพันธุ์กับที่ระบาดอยู่ใน 4 ประเทศในอาฟริกาด้านตะวันตก จึงไม่เกี่ยวข้องกับการระบาดดังกล่าว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะติดตามรายละเอียดจากองค์การอนามัยโลกต่อไป ทั้งนี้ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลามีการระบาดอยู่ในทวีปอาฟริกามาเกือบ 40 ปี ในแต่ละปีมีการระบาดย่อยๆ ในบางประเทศ เพิ่งมีการระบาดใหญ่สุดในปีนี้ใน 4 ประเทศดังกล่าว ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยนอกทวีปอาฟริกา
ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรายงานข้อมูลถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2557 พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 2,615 ราย เสียชีวิต 1,427 ราย การระบาดยังคงอยู่ในประเทศกินี ไลบีเรีย เซียร์ร่าลีโอน และเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย และจากที่ไลบีเรียเคยมีข่าวว่าผู้ป่วยหนีออกมาจากศูนย์รักษา ขณะนี้ทางการได้ติดตามตัวกลับมาได้แล้วทั้ง 17 ราย ส่วนกรณีข่าวที่ประเทศเซียร์ร่าลีโอนพบอาสาสมัครชาวอังกฤษติดเชื้อไวรัสดังกล่าว รัฐบาลอังกฤษมีแผนจะนำตัวกลับไปรักษาที่ประเทศอังกฤษ สำหรับประเทศพม่า อินเดีย เวียดนาม ที่มีการตรวจสอบผู้เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดและมีไข้ พบว่าผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทุกรายไม่ได้ติดเชื้อไวรัสอีโบลา แต่ป่วยเป็นโรคอื่น เช่นที่พม่าเป็นโรคมาลาเรีย เป็นต้น
สำหรับมาตรการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศโดยเครื่องบิน กระทรวงสาธารณสุขได้ดูแลครอบคลุมทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ซึ่งมีวันละ 6-7 เที่ยวบิน กลุ่มประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้มาจากพื้นที่ระบาด และกลุ่มผู้เดินทางที่รอเปลี่ยนเครื่อง ในระยะที่ผ่านมาสถานการณ์ปกติ ไม่พบรายใดมีไข้ ส่วนการเตรียมความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการสอบสวนโรค ได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของบุคลากร เนื่องจากบทเรียนของการระบาดในอาฟริกา มีบุคลากรทางการแพทย์รวมอยู่ด้วย จึงต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยในการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่
ทางด้านนายแพทย์ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีหญิงไทยอายุ 48 ปีที่รับการดูแลที่สถาบันบำราศนราดูร ขณะนี้เป็นวันที่ 3 อาการปกติดี ไม่มีไข้มาโดยตลอด ผื่นที่ผิวหนังหายแล้ว ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการครั้งแรกได้ผลลบ และตรวจซ้ำครั้งที่ 2 เมื่อวานนี้ก็ให้ผลลบเช่นกัน จึงยืนยันว่าไม่ใช่การติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยวันนี้จะนำผลการตรวจเข้าหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการวินิจฉัยรักษาด้วย และคาดว่าจะกลับบ้านได้ในวันนี้ ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขผู้ป่วยเข้าข่ายเฝ้าระวังมาตั้งแต่ต้น เพียงแต่มีประวัติการเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด และไม่มีไข้ แต่มีความกังวล ได้ติดต่อมายังกรมควบคุมโรค จึงได้ให้การตรวจและดูแลตามระบบการเฝ้าระวัง นับว่าเป็นผู้มีความใส่ใจ และรับผิดชอบต่อสังคม ในการดูแลครั้งนี้ถือเป็นการทดสอบความพร้อมของระบบการเฝ้าระวังโรค การดูแลรักษาในโรงพยาบาล การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการสื่อสารเผยแพร่ข้อมูลความรู้แก่ประชาชน ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาสามารถโทรสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
- 3 views