คสช.ฝ่ายสังคมจิตวิทยาแถลงข่าวเดินหน้าปฏิรูประบบสุขภาพด้วยเขตสุขภาพประชาชน จากมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 8 ส.ค.57
18 ส.ค.57 ในช่วงที่ผ่านมาต้องบอกว่า เริ่มมีความชัดเจนเรื่อง “การปฏิรูปเขตสุขภาพ” ภายหลังที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้พยายามในการผลักดันเขตสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ที่มุ่งสู่การปฏิรูปการเงินการคลังในการกระจายงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จากที่ส่งตรงไปยังหน่วยบริการให้กระจายไปยัง 12 เขตสุขภาพแทน แต่กลับปรากฎเสียงคัดค้านอย่างต่อเนื่อง ด้วยเกรงจะกลายเป็นการปฏิรวบอำนาจการบริหารจัดการไว้ที่เขต ที่ยังคงอำนาจการบริหารไว้ในมือ สธ.มากกว่าเป็นการปฎิรูปที่ต้องกระจายอำนาจให้กับประชาชน เน้นการมีส่วนร่วม ด้วยเหตุนี้ทาง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมวิทยา จึงได้ทุบโต๊ะด้วยตนเองก่อนที่ความขัดแย้งในระบบสุขภาพจะบานปลาย ด้วยการเดินหน้านโยบาย “เขตสุขภาพประชาชน” ที่เป็นไปตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 แทน
ในเวทีการแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาตินัดพิเศษ เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าวอย่างพร้อมเพียง รวมถึง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ทุกฝ่ายวิเคราะห์ตรงกันว่า มีท่าทีถอยร่นเนื่องจากเขตสุขภาพ สธ.ที่พยายามเดินหน้าต้องบอกว่า วันนี้มาถึงสุดทางตันแล้ว เพราะนอกจากไม่ได้รับการตอบรับจากภาคส่วนต่างๆ ในระบบสุขภาพแล้ว ยังถูก คสช.จำกัดกรอบการปฏิรูปที่ให้ดำเนินการเฉพาะใน สธ.เท่านั้น นั่นหมายถึงเป้าหมายที่จะปฏิรูปการเงินการคลังด้วยการดึงงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวไปบริหารที่เขตนั้นต้องสะดุดลงไปด้วย พร้อมออกโรงแก้เกี้ยวว่า แนวทางปฏิรูปเขตสุขภาพประชาชนตามมติ สช. เป็นเป้าหมายเดียวกับที่ สธ.ตั้งใจเดินหน้า
งานนี้จึงส่งผลดีต่อ สปสช.ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหากการปฏิรูปเขตสุขภาพ สธ.เดินหน้าสำเร็จ ซึ่งงานนี้สปสช.ต้องขอบคุณเครือข่ายภาคประชาชน รวมถึงภาคีเครือข่ายระบบสุขภาพที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่ต่างเห็นปัญหาตรงกันและได้เคลื่อนไหวผลักดันจน คสช.รับทราบปัญหาถึงผลกระทบต่อระบบสุขภาพประเทศที่จะเกิดขึ้น หากมีการเดินหน้าเขตสุขภาพตามที่ สธ.เสนอ หาไม่แล้ว ลำพังสปสช. คงจะเจอศึกหนักมากกว่านี้ เพราะสปสช.ยุคนี้ แม้จะดูเป็นองค์กรที่ยิ่งใหญ่ แต่แท้จริงกลับไม่มีพลังมากมาย มิหนำซ้ำที่ผ่านมาก็ถูกการเมืองแทรกแซงโดยง่าย ดูได้จากการเพิ่มตำแหน่งรองเลขาธิการสปสช. 2 ตำแหน่ง ที่มีคนของฝ่ายการเมืองอำนาจเก่าแทรกอยู่จนทุกวันนี้ ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้
อย่างไรก็ตามแม้ว่า “เขตสุขภาพ สธ.” จะถูกปรับเปลี่ยนเป็น “เขตสุขภาพประชาชน” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งที่ต้องรอลุ้นจากนี้คือผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เนื่องจากขณะนี้เริ่มมีการเปิดโผรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) บ้างแล้ว โดยในช่วงที่ผ่านมา ได้มีสื่อมวลชนบางฉบับนำเสนอชื่อ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ติดโผนั่งเก้าอี้ รมว.สาธารณสุข อย่างไรก็ตามหากเป็นไปตามโผที่ปรากฎ คาดว่าสถานการณ์ภายใน สปสช.คงต้องวุ่นอีกแน่ แม้ว่าในระยะหลังท่าทีของ นพ.ณรงค์จะดูอ่อนลง เพราะเพียงนั่งรักษาการ รมว.สาธารณสุข ในช่วงที่ผ่านมา การประชุมบอร์ด สปสช. ได้ถูกเลื่อนออกไปถึง 2 ครั้ง แม้ว่าในครั้งที่ 3 จะดำเนินการประชุมบอร์ด สปสช.ได้หลังถูกกดดันจากหลายฝ่าย แต่ นพ.ณรงค์ ได้อ้างติดภารกิจไม่เข้าร่วมประชุมตามคาด
ด้วยเหตุนี้ จึงต้องติดตามการตัดสินใจ คสช. ในการคัดเลือกผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้ รมว.สธ. อย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดกันว่าภายในเดือนส.ค.นี้น่าจะทราบผลชัดเจน
ต่อกันที่ท่าทีของ สธ. ที่ผ่านมาได้มีการปรับไปในทิศทางเดียวกับ ปลัด สธ. โดยล่าสุดทาง สธ.ได้ยอมยกเลิกหนังสือห้ามนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัด สธ. สังฆกรรมกับทาง สปสช. ทั้งการทำนิติกรรมและการทำกิจกรรมใดๆ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม แล้ว โดยให้เหตุผลว่าจากการหารือระหว่าง สธ.และ สปสช. ได้บรรลุข้อตกลงการบริหารจัดการงบหลักประกันสุขภาพปีงบประมาณ 2557 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งได้มีการกำหนดทิศทางใหม่ในการปฏิรูประบบสุขภาพ โดยให้มีเขตสุขภาพประชาชนขึ้นตามมติ สช. จึงขอให้ยกเลิกหนังสือดังกล่าวเพื่อให้สามารถสร้างความร่วมมือบูรณาการจัดบริการสุขภาพเป็นไปด้วยดี นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ สธ.ต้องยอมถอย
งานนี้ต้องบอกว่า คนในระบบสุขภาพและแวดวงสาธารณสุข ยังคงละสายตาไม่ได้
- 2 views