สปสช.เผยสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพ นอกเหนือรักษาพยาบาล ยังเน้นส่งเสริมป้องกันโรคสำหรับคนไทย 65 ล้านคน กระจายสู่พื้นที่และสถานพยาบาลเพื่อจัดบริการ ครอบคลุมตั้งแต่งานอนามัยมารดา ฝากครรภ์ ตรวจคัดกรองโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย ดาวน์ซินโดรม เอชไอวี งานอนามัยเด็ก ตั้งแต่การให้วัคซีนขั้นพื้นฐานในกลุ่มอายุต่างๆ ทันตกรรม จนถึงการให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม คัดกรองเบาหวานและความดันโลหิตสูง และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในชุมชน ผ่านกลไกกองทุนสุขภาพตำบล
นพ.ชูชัย ศรชำนิ ประธานกลุ่มภารกิจสนับสนุนเครือข่ายระบบบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น นอกเหนือจากการรักษาพยาบาลแล้ว ส่วนที่สำคัญคือ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ในปี 2557 สปสช.ได้รับสำหรับการส่งเสริมป้องกันโรค 288.88 บาทต่อคนไทยทุกสิทธิ 65 ล้านคน เป็นเงิน 18,740 ล้านบาท แบ่งเป็น 4 รายการหลัก คือ สร้างเสริมป้องกันโรคในระดับประเทศ ระดับพื้นที่ บริการพื้นฐาน และสนับสนุนการจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งในส่วนของแม่และเด็กนั้น ครอบคลุมตั้งแต่การให้บริการหญิงฝากครรภ์รายใหม่ เฉลี่ยในแต่ละปีจะมีหญิงฝากครรภ์รายใหม่ได้รับบริการประมาณ 760,000 ราย ในจำนวนนี้จะได้รับการตรวจคัดกรองธาลัสซีเมีย การตรวจภาวะพร้องธัยรอยด์ฮอร์โมน รวมถึงการตรวจติดตามเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการทางสติปัญญาทัดเทียมเด็กปกติ รวมถึงการตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจาง ดาวน์ซินโดรม ตรวจเอชไอวี และสุขภาพช่องปาก การตรวจหลังคลอด และการวางแผนครอบครัว นอกจากนั้นมีการคัดกรองโรคซึมเศร้า การตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทันตกรรมส่งเสริมป้องกันและทันตกรรมประดิษฐ์
ขณะที่งานอนามัยเด็ก ได้แก่ การตรวจคัดกรองภาวะพร่องธัยรอยด์ฮอร์โมน(TSH) ในทารกแรกเกิด การให้วัคซีนพื้นฐาน วัคซีน MMR (หัด คางทูม หัดเยอรมัน) ในเด็กอายุ 0-1 ปี วัคซีน JE3 (ไข้สมองอักเสบครั้งที่ 3) ในเด็กอายุ 1-3 ปี วัคซีน DTP5 (คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก) ในเด็กอายุ 3-5 ปี วัคซีน MMRs (หัด คางทูม หัดเยอรมัน) ในเด็กนักเรียน ป.1 วัคซีน dTs4 (คอตีบ บาดทะยัก) ในเด็ก ป.6 การตรวจพัฒนาการ การประเมินภาวะโภชนาการ และทันตกรรม
ทั้งหมดเป็นการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคระดับพื้นฐานในระดับบุคคล ขณะที่ในระดับชุมชนนั้น สปสช.ได้ร่วมกับอบต.และเทศบาลทั่วประเทศในการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า กองทุนสุขภาพตำบล ซึ่งสปสช.ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2549 เพื่อการจัดการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพที่มาจากท้องถิ่นเอง และจัดการโดยคนท้องถิ่น เป็นรูปแบบหนึ่งของการกระจายอำนาจการจัดการด้านสุขภาพ ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมการจัดการ ซึ่งแก้ปัญหาได้ตรงจุด เป็นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคในชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของระบบ กลุ่มเป้าหมาย เด็ก สตรี ช่วยส่งเสริมให้เด็กแรกเกิดได้กินนมแม่จนอายุ 6 เดือน รวมถึงการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ขณะเดียวกันก็เน้นการส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในกลุ่มโรคเรื้อรังที่สำคัญ เช่น เบาหวาน/ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์/อัมพาต โรคไต โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเอดส์ เป็นต้น ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่เป็นนวัตกรรมสุขภาพชุมชนเป็นตัวอย่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพื้นที่ต่างๆได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีอบต.และเทศบาลตั้งกองทุนสุขภาพตำบล 7,850 แห่ง
- 1 view