พกส.ร้องคสช.ขอเงินเดือนเพิ่ม ชี้แนวทางบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นพกส.ของสธ. แค่นโยบายขายฝัน สวัสดิการเหมือนเดิม ไม่ไม่อะไรเปลี่ยนแปลง ค่าตอบแทนไม่เพิ่ม ต่ำกว่าลูกจ้างชั่วคราวอปท. เฉลี่ยอยู่ที่ 6,500 บาท/เดือน เผยเคยร้องไปที่ผู้บริหารสธ. แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เตรียมเข้าพบคสช.อีกครั้ง 1 ก.ย.นี้ เสนอดึงลูกจ้างชั่วคราวสธ.ไปอยู่กับก.พ.แทน ขอปรับเงินเดือนขึ้น 8% ด้านหมอวชิระแจงนัดหารืออีกครั้ง 15 ส.ค. เผยต้องคำนึงถึงสถานะของรพ.ด้วย
นายโอสถ สุวรรณเศวต (ขอบคุณภาพจาก facebook ชมรมพนักงานกระทรวงสาธารณสุข)
นายโอสถ สุวรรณเศวต รองประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) เปิดเผยว่า จากการที่ลูกจ้างชั่วคราวสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กว่า 140,000-150,000 คน ได้รับความไม่เป็นธรรม จากนโยบายยกระดับลูกจ้างชั่วคราว เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ที่เคยขายฝันว่า พกส. จะได้รับสิทธิสวัสดิการเทียบเท่าข้าราชการ และมาทดแทนตำแหน่งข้าราชการที่ไม่เพียงพอ ที่สำคัญจะได้รับเงินเดือนเพิ่ม แต่ปรากฎว่า ความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เงินเดือนขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 6,500 บาทต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ได้เฉลี่ย 9,000 บาทต่อเดือน และจากความไม่เป็นธรรมดังกล่าว พวกตนเคยเสนอในการประชุมคณะกรรมการพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมา และเคยร้องไปยังผู้บริหารกระทรวงฯ แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ โดยระบุว่าไม่มีงบประมาณประจำ ทุกวันนี้ต้องเอางบจากเงินบำรุงมาจ่ายเงินเดือน
"เมื่อผู้บริหาร สธ. ไม่สามารถช่วยอะไร พวกเราจะขอความเป็นธรรมต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) โดยในวันที่ 1 กันยายน จะขอเข้าพบที่กองทัพบก เบื้องต้นได้โทรหา พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่ทางเลขาฯรับสายไว้ โดยพวกเราขออนุญาตในการเดินทางไปครั้งนี้"นายโอสถ กล่าว และว่า ขอเสนอให้ดึงพนักงานลูกจ้างชั่วคราวออกจากกระทรวงฯ และให้ไปอยู่ในการดูแลของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) กรมบัญชีกลาง เพื่อจะได้จัดสรรงบประมาณประจำปี ไม่ต้องรอเงินบำรุงจากโรงพยาบาลเหมือนแต่ก่อน โดยการขึ้นเงินเดือนนั้นขอให้พิจารณาขึ้นตามอายุงาน เช่น หากทำงาน 10 ปีลงมาขึ้นร้อยละ 8 หากทำงาน 10 ปีขึ้นไป ให้ขึ้นในอัตราร้อยละ12
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า เรื่องนี้ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขมีการพูดคุยกันหลายครั้งแล้ว โดยสรุป สสลท.เรียกร้อง 2 เรื่อง โดยเรื่องแรก คือ ต้องการเรียกร้องให้เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขทุกคน ซึ่งต้องมาดูกรอบอัตรากำลังว่าสามารถทำได้หรือไม่ แต่ขณะเดียวกันกลับเรียกร้องต่อคสช.ว่า ต้องการเป็นลูกจ้างประจำ เนื่องจากหากเป็นลูกจ้างประจำจะมีงบประมาณเข้ามา แต่ทุกวันนี้เป็นลูกจ้างชั่วคราวจะได้รับเงินเดือนจากเงินบำรุงของโรงพยาบาล
“ปัญหาคือ การเรียกร้องไม่เหมือนกัน ซึ่งหากเรียกร้องให้เป็นพกส. ก็มีการดำเนินการอยู่ในกรอบ อัตรากำลัง อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องต่อมา คือ ต้องการขึ้นเงินเดือนตามอัตราที่สสลท.กำหนด คือ หากทำงาน 10 ปีลงมาขึ้นร้อยละ 8 หาก 10 ปีขึ้นไปขอขึ้นเงินเดือนร้อยละ 12 ซึ่งในความเป็นจริง เมื่อมีการขึ้นเงินเดือนจะขึ้นกันไม่เกินร้อยละ 6 ต่อปี ส่วนกรณีลูกจ้างชั่วคราวที่จะยกระดับเป็นพกส.นั้น ก็ต้องมาพิจารณาตามความเป็นจริงให้สอดคล้องกับปัจจุบัน และสถานะของโรงพยาบาลแต่ละแห่งด้วย” นพ.วชิระ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม จากการที่พูดคุยกันหลายครั้งแล้ว แต่เพื่อความสบายใจและชัดเจนยิ่งขึ้น ตนได้นัดประชุมคณะกรรมการพนักงานกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ เพื่อหารือร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร รวมทั้งการขึ้นเงินเดือนจะอยู่ในอัตราเท่าใดจะยอมรับได้ทุกฝ่ายด้วย
- 3 views