สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) กว่า 500 คน ปักหลักค้างคืนทำเนียบเรียกร้องรัฐบาลปรับระบบการจ่ายค่าจ้างจากเงินบำรุง รพ.เป็นจ่ายจากงบประมาณแผ่นดินโดยตรง ด้าน รมว.สาธารณสุขเตรียมเข้าเจรจาเช้าวันที่ 16 พ.ค.นี้
วันที่ 15 พ.ค. 2561 กลุ่มสมาชิกสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) จำนวนประมาณ 500 คน นำโดย นายโอสถ สุวรรณเศวต ประธาน สสลท. และนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เดินทางมาชุมนุมที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเรียกร้องให้ปรับระบบการจ่ายค่าจ้างของลูกจ้างจากเงินบำรุงโรงพยาบาล เป็นจ่ายจากงบประมาณแผ่นดินโดยตรง โดยนายโอสถและทีมงานได้เข้าพูดผู้บริหาร สธ.เป็นเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะออกมาทำพิธียืนสงบนิ่งให้ นายคณาพันธุ์ ปานตระกูล อดีตลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี ที่ฆ่าตัวตายในปี 2550 เพื่อเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการของลูกจ้างเป็นเวลา 1 นาที
นายโอสถ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสลท. ได้มีข้อเรียกร้องดังกล่าวมานานแล้ว มีการพูดคุยกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขหลายครั้ง และการพูดคุยในครั้งนี้ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า เป็นเพียงการประวิงเวลา ดังนั้น สสลท.จะขอคุยกับรัฐบาลเพราะเรื่องนี้เกินอำนาจของรัฐมนตรีสาธารณสุขไปแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อผู้ชุมนุมปักหลักรอตัวแทนจากรัฐบาลตลอดช่วงเช้าแล้วแต่ไม่มีการส่งตัวแทนมารับเรื่อง ในช่วง 14.00 น. ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนด้วยการเดินเท้าเพื่อมุ่งหน้าไปปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาลระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร โดยตั้งเป้าว่าจะพักค้างคืนที่นั่นจนกว่าจะมีผู้แทนรัฐบาลเข้ามาเจรจา อย่างไรก็ดี ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งแถวสกัดไว้บริเวณหน้าโรงพยาบาลศรีธัญญา แต่สุดท้ายทางผู้ชุมนุมก็สามารถฝ่าออกไปได้และเดินทางถึงบริเวณทำเนียบรัฐบาลในที่สุด
นายโอสถ กล่าวว่า ได้มีการหารือกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่แล้วว่า ทาง สสลท.จะขอพักค้างคืนในพื้นที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เพราะจะสะดวกกว่าให้ผู้ชุมนุมเดินกลับไปนอนค้างที่กระทรวงสาธารณสุขอีก โดยได้แจ้งขออนุญาตเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิตแล้ว รวมทั้งแจ้งทาง ก.พ.แล้ว ทาง ก.พ.ก็ให้เข้ามาได้ ซึ่งในช่วงเช้าวันที่ 16 พ.ค. 2561 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะตัวแทนรัฐบาลจะมาพบเพื่อรับเรื่องและเจรจาหารือกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โฆษก สธ.เผยการขอเปลี่ยนค่าจ้างจากเงินบำรุงเป็นงบประมาณอยู่นอกเหนืออำนาจ สธ.
สธ.สั่งทุก รพ. 'ลูกจ้างทุกคนต้องได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าแรงงานขั้นต่ำ'
- 23 views